ศุภลักษณ์ หัตถพนม [email protected] กลับมาเรียกความสนใจอีกครั้งสำหรับประเด็น “ใส่ชุดไปรเวทมาเรียน” ที่สร้างความฮือฮาในสังคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสถานศึกษาชื่อดังเป็นผู้จุดประกายล่าสุด แม้ว่าจะเป็นเพียงการนำร่องเพื่อศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายนักเรียน ผ่านการจำลองสังคมเพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ แสดงความเป็นตัวตน และได้รับการยอมรับจากสังคมผ่านการแต่งกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข แต่ก็ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในสังคม อย่างไรก็ตามเมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า “ข้อถกเถียง” และ “มุมมอง” การใส่ชุดไปรเวทมาเรียนนั้น ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว ทั้งในระดับมัธยมศึกษา (โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ ระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การไม่มีชุดยูนิฟอร์มไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน และยังอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมของผู้เรียนอีกด้วย ล่าสุด วันนี้ (10ม.ค.) เมื่อเวลา 18.10 น. วินทร์ เลียววาริณ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟสบุ๊คส์ โดยในภาพระบุว่า “เห็นด้วยไหม อนุญาตให้เด็กนักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปเรียนหนังสือ ?” นอกจากนี้ยังได้โพสต์ ข้อความว่า เรื่องเกิดขึ้นเมื่อโรงเรียนแห่งหนึ่งอนุญาตให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ม.1 - ม.6 แต่งชุดไปรเวตไปเรียนหนังสือได้ ทดลองอาทิตย์ละวัน นี่คือพายุความเห็น : “มันดี เพราะสอนเด็กให้รู้จักตนเอง” "นักเรียนมีความสุขกับการมาโรงเรียน ไม่ต้องกังวลกับการใส่ชุดนักเรียน และทำให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในการเรียนได้อย่างคล่องแคล่วสะดวกสบาย" "โรงเรียนในประเทศที่เจริญแล้วไม่ต้องใส่ชุดเครื่องแบบ" "โรงเรียนในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น หลายแห่งเข้มงวดเรื่องการแต่งกายยิ่งกว่าเมืองไทยอีก" "ถ้ายังยึดติดกับเปลือกนอกว่าต้องเป็นแบบเดิม เมื่อไรจะคิดไปไกลๆ ได้" "ถ้าไม่เรียนรู้ระเบียบวินัยกฎเกณฑ์ตอนนี้ จะเรียนตอนไหน?" "มันปลูกฝังสำนึกเรื่องอิสรภาพ" "ชุดส่วนตัวแพงกว่าชุดนักเรียนนะ ใครจ่าย? พ่อแม่รับภาระมากขึ้น" "ทุกวันก็ต้องเสียเวลาหาชุดที่เหมาะ ใส่ชุดเชยๆ ก็อายเพื่อน มันจะสร้างความลำบากให้เด็กมากขึ้นหรือเปล่า" "มันสอนเรื่องเสรีภาพ" "โลกมาถึงยุคไหนแล้ว ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ก็เป็นไดโนเสาร์ต่อไป" "ใส่ชุดแตกต่าง ทำให้สามารถคิดต่างได้หรือ?" "เราควรจะเปิดโอกาสให้เด็กเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของเขา" "มันทำให้เด็กมีวิธีการนำเสนอตัวเองต่างกัน" "การแต่งกายมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นตัวตนของเขา” "ถ้านักเรียนทำได้ ทหาร ตำรวจ พนักงานบริษัทและโรงงานก็ควรใส่ชุดไปรเวตได้" “มันช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กได้มีส่วนตัดสินใจเรื่องของตัวเอง ให้เขาได้ค้นพบตัวเอง ให้เขาได้หาสไตล์ของตัวเองให้เจอ หรือแต่งตัวยังไงให้ถูกกาลเทศะ" "มันเป็นการเปรียบเทียบฐานะและรสนิยมโดยปริยาย ท้ายที่สุดมันสร้างความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า” "ทำแล้วเด็กจะมีความสุข อยากไปโรงเรียนมากขึ้น" ท่านล่ะ? คิดอย่างไร? โปรดเติมคำในช่องว่าง : "………………………………." วินทร์ เลียววาริณ เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/ ที่น่าสนใจ รศ.ดร.เยาว์ เนาวรัตน์ และ อ.สุวัฒน์ บุญเคลือบ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่าน งานวิจัยเรื่อง “อำนาจสมัยใหม่ในเครื่องแบบนักเรียนไทย” โดยการใช้มโนทัศน์เรื่อง ชีวอำนาจ (biopower) ของ มิเชล ฟูโกต์ นักคิดสมัย Post Modernเชิงวิพากษ์ พบว่า เครื่องแบบนักเรียนนั้น เปรียบเสมือนพลังอำนาจทางอ้อมหรืออำนาจสมัยใหม่ ที่มีขึ้นเพื่อให้เกิดการปกครองของกลุ่มคนในสังคมนั้นๆ ได้อย่างมีระเบียบ ซึ่งก่อนหน้านั้น อำนาจจะอยู่ในรูปแบบของทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจ อำนาจในระบบการปกครองแบบแบ่งชนชั้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อำนาจก็ได้โอนถ่ายมายัง กฎระเบียบที่รัฐได้กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดการควบคุมทางสังคมสะดวกขึ้นซึ่ง
การใส่เครื่องแบบในสถานศึกษานั้นเป็นการกำหนดตัวตน ระหว่างตัวของผู้เรียนและครูผู้สอน
ผู้วิจัยระบุอีกว่า การแต่งกายชุดนักเรียนตามระเบียบของโรงเรียน เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางสังคมที่สอนให้คนรู้จักกาละเทศะ การเคารพครูผู้สอน เป็นเครื่องมือที่ฝึกการมีระเบียบวินัยของผู้เรียนให้ประพฤติตัวตามแบบวัฒนธรรมอันดีงามเมื่อเรามองประเด็นที่ว่า การแต่งตัวถูกระเบียบนั้นมีผลต่อผลการเรียนของนักเรียนหรือไม่ โดยผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชุดนักเรียนกับผลสัมฤทธิ์การเรียนของผู้เรียนเพราะ การที่ผู้เรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความมีระเบียบวินัยในตัวเอง การบังคับตัวเองในการค้นคว้าหาความรู้ ผู้เรียนต้องสร้างระเบียบวินัยในการเรียนรู้ของตนเอง เพราะแต่ละคนมีแนวทางในการเรียนรู้ที่ต่างกันนักเรียนบางคนอ่านหนังสือรอบเดียวก็สามารถเข้าใจได้หมด แต่ส่วนมากต้องอ่านหลายๆรอบ ถึงจะเข้าใจเพื่อเป็นฐานความรู้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือ ค้นคว้าในสิ่งที่ไม่รู้ โดยมีครู เป็นผู้ให้คำปรึกษา จนได้คำตอบสิ่งนั้นมา กล่าวคือการมีระเบียบวินัยในตนเองนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการมีระเบียบวินัยในสังคมด้วยเช่นกัน แต่หากมองในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการใส่เครื่องแบบนักเรียนแล้ว ต้องย้อนมองก่อนว่า จริงๆแล้วเราอยู่ในสังคมที่คำว่าเสรีภาพเข้าถึงได้มากแค่ไหน เพราะเมื่อผู้ปกครองจะพาบุตรหรือหลานไปเข้าเรียนใน สถานศึกษาแห่งๆหนึ่งผู้ปกครองก็ต้องให้ความสาคัญอ่านประวัติและนโยบายของสถานที่นั้นๆ ซึ่งจะมีบอกข้อกำหนดระเบียบของโรงเรียนขึ้นมา และเมื่อรายงานตัวเป็นสมาชิกของสังคมนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่า เราต้องรู้แล้วว่าเสรีภาพอะไรบ้างที่เราจะเหลืออยู่อะไรที่เราควรมี เพราะจริงๆแล้วการใช้ชีวิตศึกษาหาความรู้ในระบบโรงเรียนที่มีระเบียบเรื่องเครื่องแบบนักเรียนที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่ช่วงเวลาทั้งหมดของชีวิตผู้เรียน หากแต่เป็นการเรียนรู้การอยู่ภายใต้สังคมสังคมหนึ่งที่มีความหลากหลาย เมื่อจบจากระบบโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ซึ่งนักเรียนจะกลายสภาพเป็นนักศึกษา ที่จะให้เสรีเรื่องระเบียบวินัยของเครื่องแบบ ที่มีความยืดหยุ่น มากกว่าแต่ก็ยังอยู่ในกรอบของกาละเทศะตามวัฒนธรรมของสังคมแห่งการศึกษานั่นเอง .. "ใส่ชุดไปรเวทมาเรียน" คงยังไม่มีบทสรุป ตราบใดที่ "มโนทัศน์" ของผู้คนในสังคมไทยยังแตกต่าง !! .. ข้อมูล - http://www.multied.org/wp-content/uploads/2016/02/อำนาจสมัยใหม่ในเครื่องแบบนักเรียนไทย - เฟสบุ๊คส์แฟนเพจ วินทร์ เลียววาริณ