วันที่ 6 ก.พ.2568 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข นัดประชุมเพื่อพิจารณาศึกษา สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้ามาหารือเพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่อาคารรัฐสภา

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่การประชุม ประธานคณะกรรมาธิการ ฯ ได้แจ้งเรื่องให้ที่ประชุมทราบ จากนั้น ได้สอบถามแต่ละหน่วยงานถึงความไม่เท่าเทียมกันทางสิทธิ

ด้าน นางชณิการ์ โกวะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมจะมอบสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล อาทิ สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ ในกรณีเจ็บป่วยของผู้ประกันตน กรณีคลอดบุตร กรณีผู้ทุพพลภาพ หรือ กรณีเจ็บป่วยทั่วไป กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกรณีบริการรักษาเฉพาะทาง เป็นต้น โดยสัดส่วนการจัดเก็บเงินสมทบ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจะแบ่งเท่าๆกัน กล่าวคือ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต จะจ่ายอัตราเงินสมทบ 1.5% ขณะที่ การสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน จะจ่ายอัตราเงินสมทบอยู่ที่ 0.5%

จากนั้น น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ และ น.ส.สิริลภัส กองตระการ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ ได้สอบถามถึงเรื่องงบประมาณของ สำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติม รวมถึงกรณีการให้สิทธิทำทันตกรรม 900 บาทต่อคนต่อปี กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินบางรายการที่ประชาชนต้องวางเงินไปก่อน การใช้บัตรทอง และกรณีสายด่วนของหน่วยงาน ที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน

ซึ่งตัวแทนสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า งบประมาณของประกันสังคม มีทั้งที่บูรณาการโดยใช้สิทธิพื้นฐานที่ สปสช. เบิกให้คนไทยทุกคน แต่หากเป็นคนต่างด้าวจะเบิกกับสำนักงานประกันสังคม ส่วนเรื่องการให้สิทธิทำทันตกรรม 900 บาทต่อคนต่อปีนั้น ย้ำว่าคลินิกที่อยู่ในความตกลงสามารถเบิกกับสำนักงานประกันสังคมได้โดยตรง ส่วนคลินิกที่ไม่ได้อยู่ในความตกลงสามารถนำมายื่นเบิกได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทางโรงพยาบาลก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้โดยตรง โดยที่ประชาชนไม่ต้องวางเงินก่อน

ด้านนางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า หน่วยงานจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งงบประมาณจะเป็นเงินจากภาษี 100% พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ได้เพิ่มสิทธิต่างๆเข้ามาให้สอดคล้องกับปัจจุบันแล้ว เพื่อให้แก่ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษา จึงได้เพิ่มหลายๆโรคเข้ามาในสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไต หรือโรคมะเร็ง