วันที่ 5 มี.ค.68 ที่ห้องบอลรูมิชั้น 4 โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสมาคมออร์โรปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม MOU เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ การแพทย์ การสาธารณสุข และกิจกรรมทางสังคมร่วมกันโดยมีเป้าหมายยกระดับพัฒนาองค์ความรู้ บูรณาการศาสตร์การแพทย์ออร์โธปิดิกส์ร่วมกับศาสตร์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์สุขต่อสังคมไทย

พิธีลงนามครั้งนี้ มีรองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ต.ต.นพ.ธงชัย สุนทราภา นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และ ดร.สมชาย อัศวเศรณี ประธานหลักสูตร ประกาศนียบัตรชันสูงนวัตกรรม การจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) ร่วมเป็นสักขีพยาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีบทบาทหน้าที่ช่วยตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลิตบัณฑิตด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยมีวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพและวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ เปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทปริญญาเอก เช่น การแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์แผนจีน สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาสาธารณสุขศาสตร์ และสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ในปี 2564 ได้เปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงขึ้น คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) นับเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัย ในความร่วมมือกับ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ บูรณาการศาสตร์การแพทย์ด้านต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล

“ปัจจุบันมีปัจจัยต่าง ๆ ก่อให้เกิดโรคมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลสุขภาพโดยง่าย การส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพที่ต้นทางจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และงบประมาณของชาติในภาพรวมมากขึ้น"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ต.ต.นพ. ธงชัย กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านออร์โธปิดิกส์และวิทยาการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์ สาธารณสุข และนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสร้างความก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ หลักสูตรผู้บริหารที่จัดทำขึ้นจะเป็นโอกาสสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านออร์โธปิดิกส์แก่ผู้นำภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรด้านสาธารณสุขเพื่อเสริมศักยภาพในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพอย่างถูกต้องและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการประสานความร่วมมือกับหลักสูตร HIDA ระดับสากล ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้นำองค์กร ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ด้านศาสตราจารย์ นพ. กีรติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านออร์โธปิดิกส์และสุขภาพกระดูกและ ข้อ โดยราชวิทยาลัยฯ มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาชีพและการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการทางการแพทย์ พร้อมสนับสนุนการทำงานของสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ ในการส่งเสริมความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรผู้บริหาร เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

"เราพร้อมให้ผู้อบรมหลักสูตร HIDA เป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพ ขยายเครือข่ายในการดูแลสุขภาพศาสตร์ต่าง ๆ มากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความยั่งยืน"

ดร.สมชาย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างการมีสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาศึกษาอบรมในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) จะได้ยกระดับพัฒนาองค์ความรู้การดูแลสุขภาพจากคณะแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพ ซึ่งมาจากสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

สำหรับสาระสำคัญในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้บุคลากร คณาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงนักศึกษาภายใต้สังกัดของหน่วยงานทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรมหรือการดำเนินงานทางวิชาการที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือทั้งสองหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) และการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

2.สร้างความร่วมมือในการสนับสนุนทางวิชาการ การเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติ และพัฒนาองค์ความรู้หรือการฝึกอบรมบุคลากร คณาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงนักศึกษา และผู้อบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) ในการแลกเปลี่ยนและขยายขอบเขตการพัฒนาองค์ความรู้ และร่วมกันพัฒนาความรู้ โดยบูรณาการศาสตร์ทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

3.ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำงานวิจัย และงานวิชาการที่เกี่ยวกับ ด้านการแพทย์การสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัย และงานวิชาการให้มีคุณภาพ มีความเป็นสากลอย่างมีประสิทธิภาพ 4.ร่วมมือกันในการพัฒนาเครือข่าย โดยการจัดกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัย การบริการ ทางวิชาการและกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งในและนอกสถานที่

​​​​​​​