วันที่ 4 มี.ค. 68 เวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเข้มข้น เน้นแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่แหล่งกำเนิดฝุ่นโดยตรงและควบคุมไม่ให้เกิดการลักลอบเผาในพื้นที่ ย้ำทุกพื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
โดย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ คุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะมีบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานีที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีแดง ด้านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าฝุ่นสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยคาดว่าสถานการณ์ฝุ่นจะเริ่มคลี่คลายลงในช่วงวันที่ 7 มี.ค. 68 สำหรับสถานการณ์จุดความร้อนในวันนี้ พบทั้งสิ้น 788 จุด จังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตาก ลำปาง ลำพูน พะเยา และอุตรดิตถ์ โดยพื้นที่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกรมป่าไม้ได้มีการออกปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนอย่างต่อเนื่องรวม 3,275 ครั้ง และดำเนินคดีกับผู้ที่เผาป่าแล้ว 28 คดี สำหรับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่วันนี้พบจุดความร้อนจำนวน 132 จุด แยกเป็นในภาคเหนือ 128 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จุด และภาคใต้ 1 จุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศปิดป่าไปแล้ว 138 แห่ง และมีการกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รณรงค์หยุดเผาโดยการเคาะประตูบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบป่า 1,750 ชุมชน รวมถึงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับชุมชนรอบป่าจำนวน 75 แห่ง เพื่อร่วมกันป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้านการจัดการไฟในพื้นที่การเกษตรที่ถึงแม้จะพบจุดความร้อนน้อยลงกว่าเมื่อวาน โดยวันนี้พบจุดความร้อน 209 จุด แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 126 จุด และพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 83 จุด กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ได้มีการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านการทำ MOU โครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไถกลบใบอ้อย ลดการเผาอย่างยั่งยืนสามารถลดเศษอ้อยจากการเผาได้แล้วถึง 36,000 ตัน
สำหรับการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเข้มข้น เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ได้เร็วที่สุด โดยจังหวัดอุบลราชธานีได้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยในพื้นที่ป่าได้มีการประกาศปิดป่าอนุรักษ์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก - ยอดมน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และได้มีการออกปฏิบัติการควบคุมไฟป่า 271 ครั้ง ทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟลุกลามเป็นระยะทางรวมกว่า 245 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่การเกษตร ได้ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา โดยได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 309,971 แปลง ลดการเผาได้ถึง 13,853,639 ไร่ ในส่วนของเขตเมือง ได้ออกตรวจโรงงานอุตสาหกรรม โครงการก่อสร้าง และยานพาหนะบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงอันตรายของฝุ่น PM2.5 ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ และรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าสภาพอากาศและทิศทางลมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยนี้ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้คือการลดปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดทั้งจากการเผาป่า การเผาเศษซากพืช การใช้รถควันดำ และอื่น ๆ ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่แหล่งกำเนิด โดยเน้นควบคุมเข้มข้นไม่ให้เกิดการลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ผ่านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่ทำการเผาอย่างจร เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการลักลอบเผาขึ้นในพื้นที่
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่น 6 ข้อ และข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมพร้อมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย สนับสนุนจังหวัดที่มีสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในการควบคุมสถานการณ์ แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 68 ที่ผ่านาได้ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กับกองทัพภาคที่ 3 นำเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 ขึ้นบินทิ้งน้ำดับไฟป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดับไฟป่าในพื้นที่สูงชัน รวมบินทิ้งน้ำดับไฟป่าทั้งสิ้น 11 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำทั้งสิ้น 33,000 ลิตร
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ X @DDPMNews หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเรื่องได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” @1784DDPM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง"