วันที่ 4 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เสนอญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย จากนั้นพ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว. ที่เคยแถลงเดือด ประกาศเอาผิดผู้ที่ทำให้ สว.เสื่อมเสีย ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลุกอภิปรายว่า การดำเนินการด้วยความยุติธรรม ไม่ต้องกังวลว่าจะอำนวยผลประโยชน์ให้กับผู้ใด อย่าเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาแลกกับบุญคุณส่วนตัว ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตนแลกกับประโยชน์ของประเทศชาติ การดำเนินการต้องชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการคดีพิเศษหรือใครก็ตาม ซึ่งเป็นองค์อำนาจต้องวางตัวเป็นกลาง ฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ รอบด้าน ใช้หลักการฟังความทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมกับแจกแจงอำนาจของแต่ละบทกฎหมายว่า การที่กฎหมายลำดับรอง ชั้นที่ต่ำกว่าไม่เคารพกฎหมายชั้นที่สูงกว่า ก็คือปรากฏการณ์ที่กฎเกณฑ์ทั้ง 2 ขัดแย้งกัน หรือวิวาทกันเององค์กรตุลาการจึงต้องเข้ามายุติข้อพิพาท ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้เป็นการใช้กฎหมายบิดผัน บิดเบือนอำนาจ ฉ้อฉลหลักกฎหมายโดยสิ้นเชิง จึงเกิดเป็นหลุมดำขึ้นในกระทรวงยุติธรรม
"ผมอยากให้ท่านได้ดูคำสั่งของคณะกรรมการคดีพิเศษตามบนจอภาพ (เป็นลายเซ็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการคดีพิเศษในตอนนั้น) ทุกท่านเข้าใจได้ แล้วจะมาบอกว่า คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษมีหรือไม่มีอำนาจ เพราะมันเป็นที่ถกเถียงของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง วิญญูชนทั่วไปใช้วิจารญาณได้ว่าการกระทำหรือการปฏิบัติหน้าที่ของท่านรัฐมนตรียุติธรรม ทวี สอดส่อง และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ดี ได้กระทำไปโดยมีอำนาจหรือไม่"
พ.ต.อ.กอบ กล่าวต่อว่า สื่อมวลชนได้มีความเห็นมากมายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งเสี้ยมด้วย เพราะฉะนั้นการที่วุฒิสภาได้เปิดการอภิปรายในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นว่า เสาหลักในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ประกอบด้วยอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการ วุฒิสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีศักดิ์กฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ ต่ำกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีนี้มีความพยายามทำให้เป็นคดีพิเศษ โดยในการครอบงำทางการเมือง เพราะมีบุคคลที่เป็นคณะกรรมการพิเศษมาจากฝ่ายการเมือง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย โดยแต่งตั้งจากรัฐมนตรี เราดูหลักของการทำงานตรงนี้ก็จะรู้ว่าฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำหรือแทรกแซงการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่
“ผู้ที่เป็นพ่อมดในตะเกียงวิเศษ ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองอันไหน ปล่อยยักษ์ตัวนี้ออกมา พวกเราคงได้เคยดูภาพยนต์การ์ตูนเรื่องอะลาดินกับตะเกียงวิเศษ เห็นแล้วหรือไม่ครับว่าอิทธิฤทธิ์ของยักษ์ตัวนี้ที่ออกมาจากตะเกียง มันไม่สามารถที่จะต้านทานได้ ยักษ์ตัวนี้ก็กำลังโลดแล่นอยู่ในประเทศนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนอกสั่นขวัญแขวน ความเสมอภาคความเท่าเทียมเป็นแค่นามธรรมเท่านั้นเอง คนที่ปล่อยยักษ์ตัวนี้ออกมาต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะดีเอสไอต้องรับผิดชอบเพราะท่านกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดมาตั้งแต่ต้น รัฐมนตรีทวี ท่านเคยเป็นอธิบดีดีเอสไอ ปัจจุบันนี้ท่านรัฐมนตรีทวีกลับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ผมถามท่านว่า ท่านทำบ้างหรือยังครับ ข้อบังคับที่มีเหตุผลที่เหมาะสมว่าอันไหนเป็นคดีพิเศษ ท่านออกมาเพียงคำสั่งที่ 2 ซึ่งปรากฏคณะกรรมการเท่านั้นเอง ไม่มีรายละเอียดว่าคดีประเภทไหนที่ท่านจะพิจารณา” พ.ต.อ.กอบ กล่าว
ด้าน นายอลงกต วรกี สว. อภิปรายว่า ตนเป็นสว.สีน้ำเงินและสีเหลือง ที่จงรักภักดี หากผู้ใดไม่ใช่ถือเป็นสว.กลุ่ม21 พวกปลาหมอคางดำ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนมีบัญชีหลักฐานว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีทั้งหมด 11+3 ล้มล้างการปกครองฯ มาตรา112 ในการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าอยากได้ข้อมูลมาเอาที่ตนได้ กรณีดีเอสไอจะรับคดีเลือกสว.เป็นคดีพิเศษ อ้างว่าใส่เสื้อเหลืองไปในวันเลือกสว.ที่เมืองทองธานี และวันรายงานตัวที่สำนักงานกกต. เป็นพวกอั้งยี่ซ่องโจร ถ้าเป็นเช่นนั้นคนใส่เสื้อเหลืองคงเป็นอั้งยี่ซ่องโจรทั้งประเทศ ดีเอสไอตั้งมา 20กว่ามีผลงานอะไรเป็นชิ้นอันบ้าง จากการศึกษารายงานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ไปศึกษาพ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ผลการศึกษาพบว่า การทำหน้าที่ของดีเอสไอซ้ำซ้อนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสร้างความแตกแยกในสังคม เพราะถูกนักการเมืองในแต่ละรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ กลั่นแกล้งทางการเมือง จึงมีข้อเสนอให้ย้ายดีเอสไอไปสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ควรอยู่ใต้การบังคับบัญชารมว.ยุติธรรม ขณะที่การรับฟังความเห็นประชาชนตามรายงานดังกล่าว ถึงขั้นเสนอให้ยุบดีเอสไอ