สาธารณสุขจังหวัดตรังจัดพิธีเปิดป้ายหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลรัษฎา เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวช

 

  วันนี้ (3 มี.ค. 68) ที่หอผู้ป่วยนินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลรัษฎา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดป้ายหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลรัษฎา เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวช โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายอำเภอรัษฎา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัษฎา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัษฎา เข้าร่วม

 

  โรงพยาบาลรัษฎาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด มีการปรับปรุงสถานที่อาคารผู้ป่วยในสามัญพร้อมเปิดบริการมินิธัญญารักษ์ ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยโดยผู้ป่วยและญาติยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นมุม Conner ในปี 2567 รับผู้ป่วยรูปแบบระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน ระยะเวลาประมาณ 3 - 7 วัน หรือตามดุลพินิจของแพทย์ จำนวน 2 เตียง และรูปแบบระยะกลางระยะเวลา 14 - 28 วัน จำนวน 4 เตียง

 ในปึงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณมินิธัญญารักษ์ ปี2568 และเขตสุขภาพที่ 12 ปรับปรุงตึกผู้ป่วยสามัญ เป็นหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ รองรับผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดจากการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยตามแนวทางศรีตรังโมเดลโดยรับผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน จำนวน 4 เตียง บำบัดระยะกลาง 50 เตียง พร้อมรับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2568 เริ่มรับผู้ป่วยได้จริง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2568 มีผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติดระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน จำนวน 3 เตียง ผู้ป่วยบำบัดระยะกลาง จำนวน 49 เตียง มีกิจกรรมการบำบัดการดูแลด้านร่างกายและจิตใจระยะบำบัดในระยะถอนพิษยาสัปดาห์แรก การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ กิจกรรมให้ความรู้สุขภาพจิตศึกษาเกี่ยวกับโรคสมองติดยาเสพติด การสร้างแรงจูงใจให้เลิกยาเสพติด การให้คำปรึกษารายบุคคลและรายกลุ่ม การบำบัดความคิดอารมณ์และพฤติกรรม กิจกรรมทางเลือก การสอนทักษะชีวิต รวมทั้งวางแผนจำหน่ายและการติดตามดูแลต่อเนื่องในชุมชน 

นอกจากนี้มีบริการในรูปแบบ One Stop Service เพื่อการดูแลช่วยเหลือด้านต่างๆ รับดูแลต่อเนื่องหลังพ้นภาวะวิกฤต/ระยะถอนพิษยา ที่ต้องการการดูแลทางด้านกายและจิตอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์ตรัง โรงพยาบาลธัญญารักษ์และโรงพยาบาลจิตเวช ภายใต้ระบบบริหารจัดการการดูแลแบบไร้รอยต่อภายในจังหวัดและบูรณาการดูแลร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพิทักษ์สิทธิของผู้ป่วยจนสามารถส่งผู้ป่วยคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป./////