ป.ป.ช.อยุธยา บูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังความเสี่ยงการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน พบสถิติมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินปีละกว่า 60 คัน


สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  บูรณาการร่วมกับ ป.ป.ช.ระดับภาค  ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ฯ  โค้ช STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตฯ  กรมทางหลวง  กอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ลงพื้นที่จับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) ครั้งที่ 3 สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า)  สถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอิน (ขาเข้า)  ดำเนินกิจกรรมจับตามองและแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามความเสี่ยงการทุจริตกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
       

  วันที่ 3 มี.ค.68 นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้นางสาวภัคศรัณย์  โอสถสงเคราะห์  หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.อยุธยา บูรณาการร่วมกับ ป.ป.ช.ระดับภาค  นายชานนท์  สุวรรณาภินันท์  ประธานชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตฯ  โค้ช STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตฯ  กรมทางหลวง กอ.รมน.อยุธยา  ลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า)  สถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอิน (ขาเข้า)  ดำเนินกิจกรรมจับตามองและแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามความเสี่ยงการทุจริตกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
       

  นายชานนท์ สุวรรณาภินันท์ ประธานชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า  การลงพื้นที่ทั้ง 2 สถานี พบว่า ทั้ง 2 ด่าน ใช้ระบบเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้  ในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion System - WIM) เพื่อตรวจสอบ และควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้ถนน จำนวนรถเข้าชั่งที่สถานีในปี 2567 ของสถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) จำนวน 208,005 คัน มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 33 คัน ส่วนสถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอิน (ขาเข้า)  745,636 คัน มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 19 คัน  ขณะเดียวกัน ยังพบว่าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) มีระบบเครื่องชั่งน้ำหนักระบบ WIM ครบทั้ง 2 ช่องจราจร  สามารถตรวจน้ำหนักได้ครอบคลุม  แต่สถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอิน  มีระบบเครื่องชั่งน้ำหนักเพียง 2 ช่องจราจร  ยังขาดอีก 2 ช่องจราจร ล่าสุด ทางสถานีได้ทำเรื่องไปยังส่วนกลาง  เพื่อขอซื้อเพิ่มเติมแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังหน่วยงานส่วนกลาง ให้พิจารณาติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย
         

ด้านนายปรากรณ์ พิมพ์เสนา หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักบางปะอิน ขาเข้า กล่าวว่า  ทางสถานีฯ  มีแนวปฏิบัติในการตรวจสอบและเข้มงวดกวดขันรถบรรทุกเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกิน โดยให้รถบรรทุกที่วิ่งผ่านสถานีตรวจสอบน้ำหนักจะต้องเข้าชั่งน้ำหนักทุกคัน และในเส้นทางสายรอง หรือเส้นทางที่ไม่มีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จะมีเจ้าหน้าที่คอยออกสุ่มตรวจสอบตามเส้นทางต่างๆ หรือตามที่ได้รับการร้องเรียน  พร้อมกันนี้  สถานีฯ ยังได้ทำสถิติรายงานจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในแต่ละปีมีกว่า 50 ราย ซึ่งมีทั้งจับกุมในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งถ้าตรวจพบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ทันที เพื่อส่งฟ้องศาล  โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมระบุ จากนี้ไปอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้ประกอบการโดยตรง  กรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินหรือแหกด่าน  ไม่ใช่เพียงเฉพาะผู้ขับขี่เท่านั้น