นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นกรณีการปะทะคารมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ระหว่างการแถลงข่าวภายในทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงแร่แรร์เอิร์ธ แต่กลับกลายเป็นสนามเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ที่ร้อนระอุ
นายจักรภพระบุว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็น “สงครามทางความคิด” ระหว่างชาติใหญ่กับชาติเล็ก ซึ่งถูกจัดฉากให้สื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อทรัมป์ ขณะที่เซเลนสกีถูกยั่วยุด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการวางตัวและการแต่งกาย จนนำไปสู่การตอบโต้ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจ โดยเฉพาะเมื่อรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ กล่าวว่าทรัมป์คือผู้ที่ช่วยให้ยูเครนเข้าใกล้สันติภาพ ท่ามกลางสงครามที่ดำเนินมากว่าสามปี คำกล่าวนี้ทำให้เซเลนสกีเดือดดาล และตอบโต้กลับว่า “อะไรคือการทูตที่เหลืออยู่” เมื่อยูเครนถูกทำลายย่อยยับและประชาชนล้มตายนับล้าน
ด้านทรัมป์เองก็ไม่ลดราวาศอก ตอบโต้เซเลนสกีด้วยท่าทีเย้ยหยัน พร้อมกล่าวไล่หลังว่า “ถ้าเปลี่ยนทัศนคติได้เมื่อไร ค่อยกลับมาคุยกันใหม่” ซึ่งนายจักรภพมองว่าคำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ณ ขณะนี้ สหรัฐฯ ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนต่อปัญหายูเครน
อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ไม่ว่าผลของสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาแบบใด ยูเครนจะต้องเผชิญกับคำถามที่ยากที่สุด คือจะอยู่ต่อไปอย่างไรกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขณะที่เซเลนสกีอาจต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถรักษาดินแดนของตนได้ ส่วนทรัมป์และแวนซ์ยังคงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติมากกว่าการรักษาหลักการและความถูกต้อง
“นี่คือโลกของเรา ทรัมป์และแวนซ์อาจทำลายอุดมการณ์และหลักการทั้งหมดภายใน 4-8 ปี หรืออาจยาวนานถึง 20 ปี หากแวนซ์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากทรัมป์ ในขณะที่เซเลนสกีจะกลายเป็นฮีโร่ที่ถูกบอบช้ำอย่างหนัก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำเนียบขาวครั้งนี้ถือเป็นความอัปยศของประวัติศาสตร์สากล อุดมการณ์ที่เคยยึดถือถูกกระชากมากระทืบต่อหน้าต่อตา” นายจักรภพกล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าประเทศไทยต้องเรียนรู้จากปรากฏการณ์นี้ โดยยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับข้อเท็จจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอดในสภาวะแห่งความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ