กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน “อวนครอบปลากะตัก” ยื่นหนังสือร้องขอผ่อนปรนมาตรการปิดอ่าว ด้าน รมว.ทส. ยันช่วยเหลือเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมาย

หัวหิน, 28 กุมภาพันธ์ 2568 – ตัวแทนกลุ่มชาวเลรักษ์ถิ่นอ่าวบางสะพานน้อย โดย นายศรีรัตน์ วิศิษฏ์วิรุฬห์ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลสามร้อยยอด เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เพื่อขอความช่วยเหลือให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือ อวนครอบปลากะตัก สามารถทำการประมงได้บางส่วนในช่วงฤดูปิดอ่าว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะหยุดทำการประมงต่อเนื่องยาวนาน 

การยื่นหนังสือดังกล่าวมีขึ้นในโอกาสที่ ดร.เฉลิมชัย เดินทางมาเป็นประธานเปิดเวทีประชุมเสริมสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายสุรินทร์ วิเศษนาก ประธานกลุ่มชาวเลรักษ์ถิ่นอ่าวบางสะพานน้อย ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มประมงอวนครอบปลากะตัก จำนวน 50 ลำ ระบุในหนังสือร้องขอว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้อวนครอบปลากะตักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ กระแสน้ำ และฤดูกาลมรสุม ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง ขณะเดียวกันในปีนี้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมเป็นเวลานานตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม ทำให้ชาวประมงต้องหยุดเรือไปแล้ว 4 เดือน เมื่อรวมกับช่วงฤดูปิดอ่าว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไป จะทำให้ชาวประมงต้องหยุดทำการประมง ต่อเนื่องยาวนานถึง 7 เดือน

“ชาวประมงพื้นบ้านต้องเผชิญกับภาระหนี้สินสะสมอย่างหนัก จนหลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเกินจะรับไหว เราจึงขอความอนุเคราะห์จากรัฐ ให้มีการผ่อนปรนมาตรการปิดอ่าวบางส่วน เพื่อให้สามารถทำการประมงได้ในระดับที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรทางทะเล”

 

โดยชาวประมงเสนอแนวทางควบคุมผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยให้มี การจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างชุมชนประมงท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสำรวจปริมาณสัตว์น้ำพลอยจับ โดยเฉพาะลูกปลาทู หากพบว่ามีปริมาณมาก ชาวประมงจะยินดีหยุดทำการประมงชั่วคราวทันที ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ชาวประมงสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง

 

ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่ต้องพิจารณารายละเอียดทางกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

“เรื่องนี้ต้องพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด ทั้งต่อชาวประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล” รมว.ทส. กล่าว.