กระแสบุหรี่ไฟฟ้ากำลังมาแรงในหมู่นักศึกษาไทย! จากการสำรวจล่าสุดนำโดย รศ.ดร.จรัมพร โห้ลำยอง พรจิรา ไววิ่งรบ และคณะทำงานศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุข สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า นักศึกษาถึง 7.7% เป็นนักสูบประจำ และอีก 8.0% เคยลองสูบ

สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 4,240 คน ใน 7 มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2567 พบว่า นักศึกษาชายสูบสูงสุดถึง 10% ส่วนนักศึกษาหญิงอยู่ที่ 7% และนักศึกษาเพศหลากหลายร้อยละ 6.4%
บุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษา ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย ขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย แถมมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ทำให้หลายคนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่แบบมวนหรือยาเส้น จากผลสำรวจชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าบุหรี่แบบมวนหรือยาเส้น โดยพบว่ามีผู้สูบบุหรี่แบบเดิมเพียง 5.5% ในขณะที่มีนักศึกษาสูบบุหรี่ไฟฟ้า 7.7% (ภาพที่ 1) นั่นหมายความว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเข้ามาแทนที่บุหรี่มวนแบบดั้งเดิมในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน 
 
ภาพที่ 1 สัดส่วนนักศึกษาที่สูบบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า (n=4,240)

บุหรี่ไฟฟ้า... จุดเริ่มต้นของนักสูบหน้าใหม่!
ข้อค้นพบที่น่ากังวล คือ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นแค่ "ทางเลือก" ของคนอยากเลิกบุหรี่มวนอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็น "จุดเริ่มต้น" ของนักสูบหน้าใหม่ในหมู่นักศึกษา! ผลการสำรวจชี้ว่า 60.2% ของนักศึกษาที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เคยแตะบุหรี่มวนมาก่อน หรือสองในสามของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด เป็นหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นสูบจากบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง ตัวเลขนี้สะท้อนว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับเป็นประตูเปิดสู่พฤติกรรมการสูบที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในอนาคต
บุหรี่ไฟฟ้า: กระแสนิยมที่อาจทำให้สุขภาพสะดุด
แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ในกระแสนิยม แต่ผลกระทบต่อสุขภาพก็มีไม่น้อย การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจส่งผลเสียต่อปอดและระบบหัวใจในระยะยาว แม้ข้อมูลในกลุ่มนักศึกษาจะยังไม่บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพเฉพาะเจาะจงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ผลการสำรวจเผยข้อมูลที่น่ากังวล
ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามักให้คะแนนความพึงพอใจในสุขภาพของตัวเองต่ำกว่าผู้ที่ไม่สูบ นอกจากนี้ สัดส่วนของนักศึกษาที่มีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางถึงรุนแรงในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็สูงกว่ากลุ่มที่ไม่สูบ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพกายและใจที่ซ่อนอยู่
แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะดูทันสมัยและเป็นที่นิยม แต่สำหรับเด็กและเยาวชน มันคือภัยเงียบที่ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่าลืมพิจารณาให้รอบคอบก่อนจะเลือกเส้นทางสายควัน!

เขียนโดย รศ. ดร.จรัมพร โห้ลำยอง และ พรจิรา ไววิ่งรบ นักวิจัย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย 
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล