ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนม.ค.68 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัวร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งสัญญาณดีขึ้น หลังได้ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.0 ทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตไทยได้รับอานิสงส์จากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหนุน GDP ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.68 นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัวร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 8.70 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60.38 โดยได้รับปัจจัยบวกจากรัฐบาลที่มีโครงการเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ GDP ได้ประมาณร้อยละ 0.275 นอกจากนี้ ยังมีโครงการพักหนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เข้ามาช่วยประชาชนในการตัดเงินต้น พักดอกเบี้ย 3 ปี และปิดจบหนี้ และ โครงการลดหย่อนภาษีผ่าน Easy E-Receipt 2.0 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดส่งออกที่ขยายได้ดี สะท้อนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2568 ที่ขยายตัว โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 11.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิตได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้า  ที่สหรัฐฯ นำมาใช้จัดเก็บภาษีจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2568 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามปริมาณสินค้านำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง รวมถึงความเชื่อมั่นทั้งทางธุรกิจและผู้ผลิตที่มีระดับเพิ่มขึ้นไม่มากจากเดือนก่อน ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้นตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่การผลิตของประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเฝ้าระวังตามผลผลิตที่หดตัว

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.0 คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตไทยได้รับอานิสงส์จากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Expansionary Monetary Policy) ในครั้งนี้ โดยเฉพาะในด้านของการลงทุนและการขยายตัวของธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินลดลง ผู้ประกอบการมีต้นทุนของแหล่งเงินทุนที่ถูกลง ส่งผลให้มีแรงจูงใจในการลงทุนในโครงการต่างๆเช่น การขยายกำลังการผลิต การซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการขยายตลาดได้ การขยายตัวของธุรกิจ สามารถขยายกิจการได้เร็วขึ้น เนื่องจากสามารถลงทุนในการพัฒนาใหม่ๆได้มากขึ้นโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเร็วขึ้นในระยะสั้น ความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าหรือบริการมีราคาถูกลง และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ลดลง เช่น บ้าน และรถยนต์ ส่งผลต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยเงินในการซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

“สศอ. ได้ประมาณการผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ครั้งนี้ โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ GDP ภาคการผลิตในปี 2568 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับกรณีที่ ธปท. ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ สศอ. ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อช่วยพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนผลักดัน GDP ของประเทศให้เติบโตขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1” นายภาสกร กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
-ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.87 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก จากการผลิตที่กลับมาเป็นปกติ

-พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.05 จากผลิตภัณฑ์  Polyethylene (PE), Ethylene และ Styrene Butadiene Rubber (SBR) เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการของตลาดกลับมาเพิ่มสูงขึ้น และผู้ผลิตกลับมาผลิตได้ตามปกติไม่มีการซ่อมบำรุง

-คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.60 จากผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive (HDD) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามความต้องการซื้อที่เริ่มกลับมาจากอุปสงค์โลก โดยเฉพาะสินค้า Enterprise HDD

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
-ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.30 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งไฮบริด เป็นหลัก เนื่องจากการหดตัวของตลาดในประเทศ จากกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดสูงโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงหดตัว

-น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.98 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัยทางภาคใต้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 

-เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่นๆ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.19 จากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูป น้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสผลไม้ เป็นหลัก เนื่องจากเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชันนอลกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ผลิตบางรายจึงปรับลดการผลิตเครื่องดื่มที่มี  ความหวานมาผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำดื่มผสมวิตามิน

#สศอ #MPI #ข่าววันนี้ #ธปท #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ดัชนีอุตสาหกรรม