วันที่ 28 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง แพทย์หญิงวีรนุช เชาวกิจเจริญ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลกลาง กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นต่อเนื่องถึงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ว่า ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังมีฝุ่นในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อาการส่วนใหญ่จากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.เยื่อบุตาอักเสบ ระคายเคืองตา บางคนน้ำตาไหลมากกว่าปกติ 2.ระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ คัดจมูก มีน้ำมูก สำหรับผู้ที่เป็นโรคปอดอาจมีอาการหอบกำเริบ 3.ระคายเคืองผิวหนัง มีผื่น
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงกลุ่มที่ทำงานกลางแจ้ง ทั้งนี้ คุณภาพอากาศระดับปานกลาง (สีเหลือง) ขึ้นไปยังต้องระมัดระวังอยู่ แนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะผู้ทำงานกลางแจ้ง สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สามารถเข้ารับบริการคลินิกมลพิษทางอากาศได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลนคราภิบาล และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ตลอดจนศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง
ขณะเดียวกัน ยังพบโรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในช่วงนี้ โดยโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสมีชื่อว่า ไวรัสอินฟูลเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือการสัมผัสถูกมือของเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค มีระยะฟักตัว 1-4 วัน เชื้อไข้หวัดใหญ่ มี 3 ชนิด เรียกว่า ชนิด เอ บี และซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกมากมาย
การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่คล้ายโรคโควิด-19 พบผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ไอ จาม รุนแรง มีไข้สูง และปอดอักเสบ แนวทางป้องกันคล้ายกับการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ 2.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้ว ผ้าเช็ดตัว 3.ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด 4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นปรุงสุก 5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6.ดื่มน้ำสะอาด 7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 8.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี 9.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือเฝ้าระวังเพื่อป้องการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการและผู้ป่วยโรคธารัสซีเมีย รวมถึง โรคอ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้และสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ แต่หากมีอาการไม่ดีให้รีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ยังไม่ใช่โรคเฝ้าระวัง ยกเว้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเกี่ยวกับปอด สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งสำคัญ ควรสวมใส่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเพื่อป้องกันตนเองจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิด และไม่แพร่เชื้อจากตนเองสู่ผู้อื่น ส่วนประชาชนทั่วไปก็ควรสวมใส่เมื่ออยู่ในที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท หรืออยู่ในที่สาธารณะมีผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันโรคทางเดินหายใจ ที่ผ่านมา ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยมักไม่ให้ความสำคัญกับหน้ากากอนามัย
ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แม้ฝุ่นจางไปแล้ว แต่ไข้หวัดใหญ่ยังต้องระวังอยู่ การสวมหน้ากากอนามัยยังมีความสำคัญเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วย เป็นไข้หรือต้องดูแลผู้ป่วย หรือเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเมื่อตรวจเช็กค่าฝุ่นแล้วมีค่าเกินมาตรฐาน จากข้อมูล 17 ก.พ.68 พบผู้ป่วยกว่า 1 แสนคน เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ซึ่งกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ เพื่อลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต
ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจายในอากาศจากการไอ จามรดกัน หรือติดต่อทางอ้อมโดยเชื้อไวรัสติดมากับมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือแก้วน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ควรพักผ่อนรักษาที่บ้านจนกว่าจะหาย และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และหากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจากการไอหรือจาม
ขณะที่ รายงานจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า ผู้เสียชีวิต 51 ราย อายุต่ำสุด 2 เดือน สูงสุด 90 ปี มีโรคประจำตัว (56.86%) เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป (45.10%) มีประวัติได้รับวัคซีน (3.92%) สายพันธุ์ที่ตรวจพบ อันดับ 1 A/H1N1 (2009) อันดับ 2 A/H3N2 อันดับ 3 B (Victoria)
โดยสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.พ.68 พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย อัตราป่วย 165.72 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิตสะสม 9 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.008 กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ 5-9 ปี รองลงมาเป็น 0-4 ปี และ 10-14 ปี ทั้งนี้ สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แนวโน้มผู้ป่วยรายสัปดาห์ในปี 2568 สูงขึ้นกว่าปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 1.6 เท่าและสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี