คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
แทบไม่น่าเชื่อที่แม้ว่าขณะนี้สงครามยูเครนจะยืดเยื้อยาวนานจนผ่านไปสามปีแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มในการยุติสงครามยังคงไม่มีความแน่นอน
สงครามยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก โดยท่าทีของผู้นำสหรัฐฯดั่งเช่น “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” และ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “ก็ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!!!
ทั้งนี้ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจ ไบเดน และองค์การนาโตต่างก็ต้องการให้ยูเครน เป็นประเทศที่ปกครองตัวเองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆเลย
ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นดูเหมือนว่าเขาสร้างความสับสนงงงวยออกมาให้เห็นอาทิ เขาได้ส่งสัญญาณขัดกันหลายๆครั้ง โดยเมื่อเร็วๆนี้ เขาได้เขียนข้อความโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียของเขาว่า “ยูเครนเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อสงครามก่อน แต่ต่อมาเขาก็ได้กลับคำที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับฟอกซ์นิวส์ทำนองที่ว่า “รัสเซียเป็นฝ่ายบุกยูเครนก่อน”
และเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025 หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เจรจาพูดคุยทางโทรศัพท์กับ “ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน”แห่งรัสเซีย เป็นเวลานานกว่าชั่วโมงครึ่ง กลับปรากฏปฏิกิริยาใหม่ว่า เขาได้ออกมาป่าวไม่ต้องการที่จะให้บรรดาผู้นำประเทศในแถบยุโรปรวมทั้ง
“ประธานาธิบดีประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี”แห่งยูเครน เข้าร่วมประชุมในโต๊ะเจรจาสุดยอดกับแผนยุติสงครามยูเครน
และนับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีทรัมป์ส่งสาส์นยื่นข้อเสนอไปยังประธานาธิบดีเซเลนสกีสองฉบับ โดยเรียกร้องครึ่งหนึ่งของรายได้(ราวๆสิบเอ็ดจุดห้าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศยูเครน โดยไม่ให้หลักประกันเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของยูเครนแต่อย่างใด!!!
นอกเหนือจากนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้กล่าวโจมตีประธานาธิบดีเซเลนสกี แห่งยูเครน ว่า ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และยังวางตัวเป็นเผด็จการ แถมยังระบุต่อไปว่า คะแนนนิยมของประธานาธิบดีเซเลนสกี มีแค่เพียง 4% เท่านั้น แต่สำนักข่าวรอยเตอร์สของวันที่ 21 กุมภาพันธ์เปิดเผยว่า แท้ที่จริงคะแนนนิยมของประธานาธิบดีเซเลนสกีได้รับ 63%
ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2025 ผู้นำของยุโรปเจ็ดประเทศ อาทิเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เข้าประชุมกันที่ประเทศเบลเยี่ยมและได้ออกมาประกาศแถลงการณ์ร่วมกันว่า “จะต้องให้ยูเครนและกลุ่มประเทศในแถบทวีปยุโรป เข้าร่วมในการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของยูเครนด้วย”
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับสงครามยูเครนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านๆมาประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความชื่นชมต่อประธานาธิบดีปูตินตลอดมา โดยในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังดำรงอยู่ในตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังมีการติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับ ประธานาธิบดีปูตินอยู่เรื่อยๆไม่ขาด
แต่ในทางกลับกันประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับพยายามล็อบบี้ผลักดันสภาคองเกรส โดยมุ่งหวังให้ความช่วยเหลือต่อยูเครนทั้งทางด้านทหาร และความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตลอดมา แถมประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังให้การสนับสนุนประธานาธิบดีเซเลนสกีอย่างเต็มที่ เพื่อเอาชนะสงครามที่มีกับรัสเซีย
โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯให้การช่วยเหลือยูเครนไปแล้วมูลค่าอย่างน้อยกว่า 174 พันล้านดอลลาร์ และยังได้สร้างความสมานฉันท์ร่วมกับกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การนาโตทั้งหมด 32 ประเทศในการสนับสนุนยูเครนอย่างเข้มแข็ง
อนึ่งจากการหยั่งเสียงของ “สำนักหยั่งเสียงพิว” ที่ไม่เอนเอียงต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2024 ว่า “ขณะนี้ชาวอเมริกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามยูเครน แตกแยกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย”
โดยฝ่ายสมาชิกพรรครีพับลิกันและบรรดาฐานเสียงกว่า 62% เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของสหรัฐฯที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือปกป้องยูเครนจากการบุกรุกของรัสเซีย ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับฐานเสียงและสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ 63% เล็งเห็นว่า เป็นหน้าที่ที่สหรัฐฯจะต้องเข้าไปช่วยเหลือและช่วยปกป้องยูเครน
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าคนอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของค่ายพรรครีพับลิกัน มีความคิดเห็นแตกต่างจากคนอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของพรรคโดแครตอย่างสิ้นเชิง
หากวิเคราะห์กันดูแล้วที่ผ่านมาในสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยของเราก็เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับยูเครนในยุคล่าอาณานิคมที่นำโดยอังกฤษและฝรั่งเศส นับว่าครั้งนั้นพระองค์ท่านอยู่ในฐานะที่ลำบากพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา เพื่อทรงต้องการที่จะรักษาเอกราชของประเทศเอาไว้ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถพิเศษของพระองค์ที่ทรง ยอมสละดินแดนบางส่วนของประเทศออกไป จนทำให้ประเทศไทยคงความเป็นเอกราชตราบเท่าทุกวันนี้!!!
ส่วนกรณีสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากผมได้ทุนวิจัยก้อนโตจาก “มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยังก์” (Brigham Young University)หรือที่เรียกย่อๆว่า “บีวายยู” ( BYU) ในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ในหัวข้อเกี่ยวกับ
“ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง” เมื่อปีค.ศ. 1975 โดยขณะนั้น“ฯพณฯนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน” ดำรงอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งท่านมอบความเมตตาอนุญาตให้ผมสามารถเข้าถึงเอกสารที่เคยเป็นเอกสารลับในห้องสมุดกระทรวงการต่างประเทศได้อย่างมากมายเป็นเวลาถึงสามเดือน ที่ต่อมาผมก็เดินทางเข้าไปค้นคว้าเอกสารลับในกองจดหมายเหตุ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ต่ออีกสามเดือน
จากการศึกษาข้อมูลในเชิงลึก ผมพบว่า หากมิใช่อิทธิพลของ “รัฐมนตรีต่างประเทศคอร์เดลล์ ฮัลล์” ที่ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อประเทศไทยแล้ว โอกาสที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากข้อเรียกร้องของประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสคงจะยากเต็มที ทั้งนี้ก็เพราะว่าขณะที่มีการเจรจาภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เสร็จสิ้นลงแล้วนั้น ในระหว่างการเจรจาทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ต้องการที่จะเอาประเทศไทยไปเป็นผลประโยชน์ของประเทศตนเองด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2025 สหรัฐอเมริกาได้ปะทะกับพันธมิตรยุโรปที่สมัชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นรอยร้าวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่าง สหรัฐฯและบรรดาชาติพันธมิตรที่เคยมีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ณ สถานที่สาธารณะ โดยสหรัฐฯออกมาแสดงท่าทีต่อต้านคัดค้านความพยายามต่อการที่ชาติพันธมิตรกล่าวประณามการรุกรานของรัสเซีย
อีกทั้งขณะที่ประธานาธิบดี่เอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสย้ำว่า ยูเครนจะต้องได้รับหลักประกันกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงยืนกรานที่สหรัฐฯจะต้องได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของยูเครน
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นจะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ขณะนี้นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯย้ายข้างหมุนกลับสลับเปลี่ยนไปแล้วอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารประเทศของ“ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”แถมขณะนี้ความแตกแยกได้เกิดรอยร้าวขึ้นแล้วทั้งภายในประเทศและยังได้แพร่ขยายลุกลามต่อไปยังบรรดาประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรอันดีของสหรัฐฯอีกด้วย ส่วนการเจรจาเพื่อต้องการจะยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่มีมาอย่างยืดเยื้อได้สำเร็จหรือไม่? และทุกๆฝ่ายจะพึงพอใจหรือไม่?ก็คงจะต้องจับตาดูกันอีกต่อไปเรื่อยๆละครับ