ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เวียนมาบรรจบครบ 3 ปี และกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ดังนั้นบรรดาผู้นำของยุโรปหลายๆประเทศจึงนัดประชุมกันเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่เคียฟ แต่ไร้เงาตัวแทนจากสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ และถัดมาอีกวันก็มีการประชุมกันที่บรัสเซลส์ ซึ่งได้ประกาศการแซงก์ชั่นรัสเซียครั้งใหญ่ส่งท้าย

ประเด็นที่ยุโรปเต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะสหรัฐฯได้กันยุโรป EU ออกไปจากการเจรจาสงบศึก ยูเครน-รัสเซีย ที่สำคัญทรัมป์และปูตินต่างไม่ยอมรับให้เซเลนสกี เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ด้วยเหตุผลสำคัญคือเขาหมดวาระในการเป็นผู้นำของยูเครนแล้ว

ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็เรียกร้องให้ยูเครนลงนามในสัญญาที่จะมอบแร่หายากในยูเครน 50% ให้สหรัฐฯเป็นการใช้หนี้ที่สหรัฐฯทำการส่งความช่วยเหลือ ทั้งการเงินและอาวุธ อันทรัมป์ถือเป็นเงินกู้

หันมาดูยุโรปต้องเข้าใจว่า EU ไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นการรวมกลุ่มของประเทศอธิปไตยจำนวน 27 ประเทศ ต่างมีรัฐธรรมนูญของตนเองและมีนโยบายของตนเอง มติของ EU จึงต้องขอฉันทานุมัติจากรัฐสภาของแต่ละประเทศ จึงยากที่จะมีเอกภาพในการตัดสินใจ

เริ่มจากเยอรมนีที่เศรษฐกิจย่ำแย่ การเมืองปั่นป่วน พึ่งผ่านการเลือกตั้งมาและพรรค CDU ได้คะแนนนำ แต่ก็ได้เพียง 28% เศษ ดังนั้นจึงต้องร่วมกับพรรคอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะรวมกับพรรค SDP ซึ่งอดีตนายกฯ ซอลซ์ เป็นผู้นำได้คะแนน 16% อันดับ 3 ส่วนพรรคอันดับ 2 คือ AFD ได้ 20% เป็นฝ่ายขวาจัดคงต้องเป็นฝ่ายค้าน

ดังนั้นรัฐบาลเยอรมนีจึงไม่ค่อยมั่นคงนัก และต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วง แต่ว่านายกฯเยอรมนีก็ประกาศแล้วว่าจะสนับสนุนยูเครนในสงคราม

ด้านฝรั่งเศสมาครง ก็กำลังเผชิญกับสภาพรัฐบาลเป็ดง่อยที่ตนเองแต่งตั้ง เพราะมีเสียงข้างน้อยในสภา ด้วยการถูกตีขนาบ ทั้งจากฝ่ายขวาของมารีเลอร์แปง และฝ่ายซ้ายของมาลองชอง มาครงนี่ก็เป็นอีกคนที่ประกาศสนับสนุนยูเครน-เซเลนสกี และถึงกับเสนอว่าจะส่งทหารเข้าไปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพประมาณ 30,000 คน เช่นเดียวกับเคียร์สตาเมอร์ของ UK ทั้งๆที่เศรษฐกิจก็ง่อนแง่นเต็มที และอาจไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือแม้แต่รัฐสภา

ที่สำคัญยุโรปไม่มีความพร้อมทั้งสภาพเศรษฐกิจ และกำลังทหาร ดังนั้นหลายๆประเทศแม้ปากจะพูดว่าสนับสนุนยูเครน แต่เอาเข้าจริงก็คงไม่มีน้ำยามากพอที่จะเข้าไปช่วยยูเครนเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส หรือประเทศอื่นๆ นี่ยังไม่นับบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยอย่างฮังการี ภายใต้ผู้นำเออร์มัน

ดังนั้นการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ราฟรอฟ ที่ประชุมกันที่ริยาด ในปัญหายูเครนที่ไม่มียุโรปและเซเลนสกี จึงเป็นไปอย่างราบรื่น และยังเปิดกว้างไปถึงความร่วมมือในด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจ แม้แต่การเจรจาลดกำลังอาวุธ โดยเฉพาะนิวเคลียร์ ซึ่งทรัมป์เคยปรารภที่จะเชิญจีนเข้าร่วมเจรจาเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางทหารลง

ด้วยเหตุนี้การเข้าแทรกแซงของ EU จึงอาจเป็นการก่อวินาศกรรมในการเจรจาสันติภาพในยูเครนของ 2 มหาอำนาจ เพราะถ้าว่ากันตามความเป็นจริงถ้าสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนสงครามยูเครน ยุโรปก็คงแบกรับไม่ไหว ในขณะที่สหรัฐฯก็คงกดดันที่จะถอนทหารปิดฐานทัพและลดบทบาทของนาโตลง เพราะทรัมป์มองว่ารัสเซียไม่ใช่ภัยคุกคามยุโรปและสหรัฐฯ

ในขณะที่ยุโรปยังมีผู้นำและประชาชนอีกไม่น้อยที่ยังเป็นโรครุสโซโฟเบีย โดยที่โรคนี้ถูกนำมาเผยแพร่จากสหรัฐฯเมื่อครั้งทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต ทรัมป์จึงพูดชัดเจนว่าเขาจะทำตามแผนสันติภาพของเขา หากยุโรปต้องการสงครามก็เป็นเรื่องของยุโรปที่จะรับผิดชอบตนเอง

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณชัดเจนจากทั้งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯแฮกเซท และรองประธานาธิบดีแวนซ์ จนมาครงประธานาธิบดีฝรั่งเศสและเคียร์สตาเมอร์นายกฯUK ต้องวิ่งโร่ไปพบทรัมป์ แต่ก็คงเปล่าประโยชน์

สุดท้ายเซเลนสกีก็ทิ้งไพ่ตายว่าเขาพร้อมจะลาออกจากตำแหน่งถ้ายุโรปรับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต และให้มีกองกำลังสันติภาพจาก NATO เข้ามาประกันความปลอดภัยของยูเครน ซึ่งนั่นคงไม่มีผลอะไรต่อทรัมป์ เพราะอย่างไรเสียเซเลนสกี คงต้องพ้นจากตำแหน่งในเร็วๆนี้

งานนี้ถ้าจะวิเคราะห์ก็คงมองได้ว่าทรัมป์คงต้องการแยกรัสเซียจากจีน เพื่อโดดเดี่ยวจีนเพราะถือว่าจีนคือภัยคุกคามหลัก ซึ่งนับว่าย้อนแนวทางของนิกสันภายใต้การชี้นำของคิสชิงเจอร์ที่แยกจีนจากรัสเซียเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย แต่ก็เชื่อว่าปูตินและสีจิ้นผิงคงไม่หลงลมง่ายๆ เพราะสหรัฐฯมีประวัติของการพลิกลิ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนผู้นำ

งานนี้ปูตินส้มหล่น เพราะต่อไปนี้จีนจะต้องเอาใจรัสเซีย ซึ่งตรงข้ามกับสมัยไบเดน ที่รัสเซียต้องเอาใจจีน และต้องยอมเสียเปรียบอย่างมากในการขายน้ำมันและก๊าซให้จีน คราวนี้มาพิจารณาสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แม้ทรัมป์จะให้สัมภาษณ์ในทางที่เข้าข้างเนทันยาฮู ในหลายเรื่องแต่มีผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นว่าทรัมป์อาจจะใช้การติดต่อ 2 แทรก คือ พูดในที่สาธารณะอย่างหนึ่งเพื่อเอาใจไซออนิสต์ในสหรัฐฯและเหล่าสส.กับสว. แต่อาจต่อสายตรงคอยปรามเนทันยาฮู เพราะจนบัดนี้แม้เนทันยาฮูจะแสดงท่าทีจะล้มการเจรจาหยุดยิง แต่ก็ยังไม่กล้าเปิดฉากโจมตีกาซา นอกจากคอยตอดเล็กตอดน้อยด้วยทรัมป์ได้บอกไปแล้วว่ากาซาเป็นเรื่องของสหรัฐฯ

จึงเห็นได้ว่าเนทันยาฮูจึงเบี่ยงประเด็นในประเทศหันไปโจมตีเวสแบงก์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่เมืองเจนินถึงกับเคลื่อนรถถังเข้าไปประจำการและประกาศจะผนวกดินแดน

นอกจากนี้ยังขยายการปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย และเลบานอนทางใต้ เพื่อหล่อเลี้ยงสงครามไว้จะได้รักษาสถานะของตนเองไว้ได้

อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ใจในสัญญาณของทรัมป์นัก จึงต้องรอดูการเจรจาหยุดยิง อิสราเอล-ฮามาส อีกสักพักคงจะเห็นชัดเจนขึ้น แต่การที่ทรัมป์เลือกไปเจรจากับรัสเซีย ที่ริยาดย่อมแสดงว่าทรัมป์ให้น้ำหนักกับซาอุดีอาระเบียมากพอควร ซึ่งซาอุดีอาระเบียอาจจะเป็นแกนหลักในการดูแลกาซาร่วมกับทรัมป์ก็อาจเป็นไปได้

เพราะทรัมป์เป็นพ่อค้า จึงมองว่าคบกับเศรษฐีอย่างซาอุฯ มีแต่ได้ประโยชน์ ไม่เหมือนคบอิสราเอลมีแต่แบมือขอเงิน ถ้าไม่มีให้ก็กรรโชกทรัพย์ ถ้าเป็นดังนี้สงครามตะวันออกกลางก็น่าจะทุเลาลงได้ เพราะทรัมป์ต้องการให้ประวัติศาสตร์จารึกว่าเป็นผู้สร้างสันติภาพ เผลอๆได้รางวัลโนเบลปีหน้าก็ได้