ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนไทยนั้นเชื่อในเรื่อง “อภินิหาร” และ “บุญญาธิการ” อันเกิดจากการสร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน
ดังที่ได้เล่าถึงการกำเนิด “ทารกคึกฤทธิ์” เมื่อ 20 เมษายน 2454 ว่ามี “อภินิหาร” อยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่ที่ได้ถือกำเนิดในระหว่างที่มารดากำลังเดินทาง และไม่ได้เกิดบนบ้านที่อยู่อาศัย แต่เกิดบนเรือ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเกิดมีพายุ ฟ้ามืด แล้วฝนก็ตกกระหน่ำ พอคลอดออกมาร้องอุแว้ก็มีปี่พาทย์ประโคมต้อนรับ เรียกว่าเป็น “มงคลฤกษ์” ถึงพร้อมด้วยสิ่งที่ดีงามหลายประการ คนที่นับถือเรื่องโชคลางคงคิดไปได้ว่า นี่เป็นเรื่องของ “บุญญาธิการ” หรือ “คนพิเศษ” โดยแท้
ภายหลังที่คลอดทารกคึกฤทธิ์แล้ว ขบวนเรือก็ล่องขึ้นไปจนถึงเมืองพิษณุโลก เพื่อไปพบกับท่านพ่อที่มีตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคเหนือ และมีกองบัญชาการอยู่ที่พิษณุโลก ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ทารกคึกฤทธิ์คงไม่สบาย น่าจะเป็นไข้ตัวร้อน ไม่ยอมกินนม มีคนแนะนำท่านแม่ให้นำลูกชายที่เพิ่งคลอดได้ไม่ถึงสัปดาห์คนนี้ ไป “ถวาย” หลวงพ่อใหญ่ หรือพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหญ่” ซึ่งก็คงจะเป็นพิธีที่ใหญ่มาก เพราะเป็นงานของลูกชายท่านแม่ทัพภาคเหนือ แล้วทารกคึกฤทธิ์ก็หายป่วย เรื่องนี้น่าจะเป็นด้วย “อภินิหาร” ของหลวงพ่อพระพุทธชินราชนั่นเอง
ความเชื่อในเรื่องการนำลูกไปถวายแก่พระเพื่อให้เป็นศิริมงคล หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือ “ต่ออายุ” นี้ เป็นความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยทุกภูมิภาค อย่างในภาคอีสานที่ผู้เขียนเติบโตมา จะมีเด็กหลายคนที่มีชื่อว่า “เคน” หรือ “บักเคน” ซึ่งก็คือเด็กที่คลอดมาแล้วมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือเลี้ยงยาก เช่น ร้องไห้ไม่หยุด หรือไม่กินข้าว หรือชอบกินอะไรที่แปลก ๆ และอันตราย หรือกินของสกปรก พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะให้ทำพิธีนำเด็กนั้นไป “ถวายพระ” ซึ่งชาวบ้านคนอีสานจะพูดว่า “ประเคน” เคนหรือบักเคนจึงมาจากคำว่าประเคนนี้
เมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงพิธี “ถวายพระ” ผู้เขียนก็เลยเล่าเรื่องคนอีสานก็มีพิธีนี้เช่นกัน แต่ไม่ใช่พิธีใหญ่โตหรือเอิกเกริกอะไร แล้วผู้เขียนก็ “ทะลึ่ง” บอกกับท่านว่า ท่านน่าจะชื่อว่า “บักเคน” หรือ “ประเคนฤทธิ์” คือมีฤทธิ์หรือมีชีวิตที่รอดมาได้จากการประเคนพระนั่นไง ซึ่งท่านก็ได้แต่หัวเราะและไม่ว่าอะไร
แล้วชื่อ “คึกฤทธิ์” หละ มีที่มาเป็นอย่างไร ?
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 16 มีนาคม 2453 (เวลานั้นประเทศไทยยังนับศักราชด้วย “รัตนโกสินทรศก” หรือ ร.ศ. โดยเริ่ม ร.ศ.ใหม่หลังสงกรานต์ของทุกปี ประเทศไทยมาใช้พุทธศักราชหรือ พ.ศ. ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ดังนั้นในคราวสวรรคตและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ถ้าจะเทียบเป็น พ.ศ. จึงยังอยู่ใน พ.ศ. 2453) ซึ่งก็คงจะมีแต่ความเศร้าโศกไปทั่วทั้งแผ่นดิน และยิ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ใกล้ชิด ก็คงจะมีทุกข์โทมนัสเป็นที่ยิ่ง
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า “สมเด็จพระพันปี” ผู้เป็นพระราชมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชสวามีแล้ว เสด็จฯไปเปลี่ยนพระอิริยาบถให้คลายทุกข์เทวศ โดยเสด็จมาประทับ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อทารกคึกฤทธิ์แข็งแรงดีแล้ว ท่านพ่อท่านแม่ก็ได้นำไป “ถวายตัว” แด่สมเด็จพระพันปี เบื้องต้นคือเพื่อทำตามธรรมเนียมของข้าราชบริพารทั้งหลาย ที่ต้องนำบุตรธิดาไปถวายตัวให้เจ้านายทรงทราบ และอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้เป็น “ศิริมงคล” แก่ชีวิตของเด็กน้อยและญาติพงศ์วงศ์ตระกูลสืบไป
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า เมื่อท่านแม่ส่งตัวท่านไปยังพระหัตถ์ของสมเด็จพระพันปี สมเด็จพระพันปีก็ทรงอุ้มเข้ามาแนบพระอุระ แต่ทารกนั้นดิ้นแรงมาก สมเด็จพระพันปีจึงตรัสว่า “เจ้าจงชื่อคึกฤทธิ์ก็แล้วกัน” หรืออย่างที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 60” เมื่อ พ.ศ. 2514 เพื่อฉลองวาระวันเกิดปีที่ 60 ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เขียนไว้ว่า “สมเด็จพระราชชนนีนาถ พระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปที่กองทหารพิษณุโลก พ่อนำคุณคึกฯใส่เบาะขึ้นทูลเกล้าฯถวายตัว เด็กกำลังดิ้นยืดแขนยืดขา ไปชกเอาสมเด็จเข้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า คึกฤทธิ์ คล้องกับชื่อ ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานไว้ก่อน”
ในคราวที่มีการพระราชทานชื่อครั้งนั้น สมเด็จพระพันปียังทรงให้อารักษ์หลวงเขียน “พระราชทานนามาบัตร” หรือ “ใบตั้งชื่อ” นี้ให้ไว้อีกด้วย พร้อมกับพระราชทาน “เงินผูกขวัญ” ให้อีกจำนวนหนึ่ง (ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะ 10 ชั่ง หรือเป็นเงิน 800 บาท โดยเงินเดือนข้าราชการขั้นเริ่มต้น เช่นที่มีบันทึกไว้ในตำแหน่งมหาดเล็กถวายตัวใหม่ ครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2426 เดือนละ 16 บาท สมมติเทียบเป็นข้าราชการที่จบปริญญาตรีแล้วในสมัยนี้และเข้ารับราชการใหม่ ๆ ที่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ก็ต่างกันเป็นจำนวน 1,000 เท่าโดยประมาณ ดังนั้นเงิน 800 บาทสมัยนั้น ก็คือ 800,000 บาทสมัยนี้) ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “รู้สึกรวยมาก มาตั้งแต่แบเบาะ”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง ความจริงน่าจะเรียกแบบชาวบ้านว่า “ลูกหลง” เสียมากกว่า เพราะตอนที่ท่านแม่มีคุณถ้วนฯ (ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ปราโมช) ก็คิดจะพอและไม่มีลูกอีกแล้วตามชื่อคุณถ้วนฯ และอายุของท่านก็ห่างจากคุณถ้วนฯหลายปี นอกจากคุณถ้วนฯผู้เป็นพี่ชายคนก่อนท่านแล้ว ท่านยังมีพี่อีก 3 คน คือ ม.ร.ว.บุญรับ เป็นพี่สาวคนโต ม.ร.ว.เสนีย์ พี่ชายคนโต และ ม.ร.ว.อุไรวรรณ พี่สาวคนรอง โดยพี่ที่ท่านสนิทสนมมากที่สุดก็คือ “พี่บุญรับ” ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็น “ครูใหญ่” ที่ “สั่งสอน” ให้ความรู้แก่ท่านในหลาย ๆ เรื่องมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยจะได้นำมาเล่าในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าท่านเป็นลูกที่ “ติดแม่มาก ๆ” และท่านแม่ก็ดูเหมือนจะ “ติดลูก” คนนี้มาก ๆ เช่นกัน แบบว่าไปไหนก็ต้องเอาลูกไปคนนี้ไปด้วย หรืออาจจะเป็นด้วยลูกคนนี่อ้อนแม่มาก จนแม่ต้องยอมพาไปไหนต่อไหนอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะเข้าไปในพระบรมมหาราชวังและในเขตที่เป็นพระราชฐานชั้นใน ชีวิตที่ต้องเข้า ๆ ออก ๆ ในวังแบบนี้ ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ “ซึมซับ” สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับชาววังเข้าไปจนฝังแน่น ส่วนหนึ่งก็คือความประทับใจในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากคนที่อยู่นอกวังอย่างท่านเป็นอย่างมาก ทั้งการกินอยู่ การแต่งกาย การพูดจา และกิริยาท่าทาง ซึ่ง “ความพิเศษ” เหล่านี้ท่านได้นำมาถ่ายทอดไว้ในนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของท่าน นั่นก็คือ “สี่แผ่นดิน” อมตนิยายที่ทำให้คนไทย “รักในหลวง” ไปทั้งประเทศ
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังพูดถึงท่านแม่ของท่านอีกว่า เป็นผู้ที่ถ่ายทอด “เลือดศิลปิน” มาสู่ตัวท่านอีกด้วย เพราะครั้งที่ท่านแม่เป็นสาวชาววัง ท่านแม่ได้ฝึกเล่นดนตรีเป็นมือระนาดเอก จนมีฝีมือในระดับที่ดีพอออกงานได้ แต่ที่ดีไปกว่านั้นก็คือได้ซึมซับเอา “DNA” ของนาฏศิลป์แขนงต่าง ๆ เข้ามาไว้ในตัว เพราะวงปี่พาทย์ที่มีท่านแม่เล่นระนาดเอกอยู่นั้น ต้องบรรเลงประกอบการแสดงโขนละคร และการร้องการรำอยู่เป็นประจำ ดังนั้นการที่ต่อมาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้มีความสามารถในนาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะโขนและละครนี้ จึงต้องถือว่ามาจาก “สายเลือด” ที่รับมาจากท่านแม่โดยแท้
“เลือดไทย” ในตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดูเหมือนว่าจะมี DNA ไปในหลาย ๆ สาย ก็เพราะ “บุญญาธิการ” ที่ต้นตระกูลและทายาทต่อ ๆ มาในสายตระกูลของท่านได้กระทำไว้นั่นเอง