ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“...โลกแห่งปรารถนาของความเป็นชีวิต..เกี่ยวร้อยพันผูกอยู่กับความรู้สึกอันล้ำลึกแห่งเจตจำนงของความรักเสมอ..ความรักนับเป็นค่าความหมายของจิตวิญญาณที่ไม่มีความสูญสิ้น ระหว่างภาวะของความเจ็บปวด..จากลา..มาจนถึง..ความสุขสมหวัง อันเป็นนิรันดร์..

เหนือขึ้นไป...จากภาวะสามัญ ความรักย่อมมีสายทางของการโลดเต้นเคลื่อนไหว..มันคือ ถนนแห่งจิตปัญญา ที่คอยดื่มด่ำอยู่กับมโนสำนึกแห่งอารมณ์..

มิมีอื่นใด..เป็นบทสรุปอันแท้จริง นอกจากการแลกเปลี่ยนแห่งกัน กระทั่งบรรลุสู่หมุดหมาย..ที่ “สัจจะแห่งความเป็นจริง” ได้จารจารึกไว้..

“..คงจะมีถนนรักอยู่สักสาย...เขียนหมุดหมายลายปักเป็นอักษร...”

และนี่คือ..บทเริ่มต้นในเบื้องลึกแห่งใจของ รวมบทกวี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรัก..ของ.. “ชนากานต์ เหลียงพานิช” กวีสาวจาก “สวนผลไม้และร้านกาแฟในอารมณ์กาแฟ”..บางคนที ..สมุทรสงคราม..เจ้าของผลงานที่แสนกระทบใจ.. “แม่น้ำ หญิงสาว ฤดูกาล”..

“..เหลือความรักเอาไว้ให้กับโลก/ไม่ผ่อนคลายทุกข์โศกเมื่อมองเห็น/เหลือที่ทางของฝันให้ฉันเป็น /ด้วยดวงใจชุ่มเย็น ..ตลอดกาล”

“เหลือความรักเอาไว้...ให้กับโลก..” คือรวมบทกวีเล่มใหม่ของ “ชนากานต์” ที่สื่อสารถึงผลึกความคิดอันแยบยลและละเมียดละไม..แยบยลด้วยภาษาสำนึก แห่งใจ..และรอยร่างแห่งกายสัมผัสอันพิสุทธิ์..ประกอบด้วยเหตุการณ์แห่งฉากและชีวิตใน4บทตอน..

“ดอกไม้บาน...บนลานใจ”/ “เหลือความรักไว้ให้โลก” / บทกวีจึงเล่า ว่าเศร้านัก/และ../ “เราคงได้พบกัน...สักวันหนึ่ง”

..ทั้งหมดทั้งมวลคือท่วงทำนองแห่งภาษา..เป็นคำถามที่เป็นหัวใจของคำถาม..เป็นคำตอบที่เปิดเปลือยเนื้อในของจิตวิญญาณ..ทุกถ้อยคำสำนึกเป็นดั่ง..ปริศนาแห่งการไขว่คว้าหาคำเฉลยอันหยั่งลึก..

“รักนั้นอยู่ที่ใดหรือในโลก/ซ่อนอยู่ในทุ่งโศกหรือโลกฝัน/ซุกอยู่ในอ้อมทรวงของดวงจันทร์/หรืออยู่ในอำพันของเกล็ดทราย”

“หลบอยู่ในครอบครัวของฟองคลื่น/หรือไปรื่นในลมเบาทุกเช้าสาย/เร้นอยู่ในแสงแดดที่แผดพราย/หรือทอดรายเป็นรุ้งคอยปรุงทา..”

คำถามแห่งบทกวีของ “ชนากานต์” ให้ความรู้สึกดั่งบทเพลงรักแสนเศร้า..แม้จะฟังดูเข้มแข็งแต่..ในผัสสะแท้จริง กลับจมดิ่งอยู่กับพลังของเพลงอาวรณ์..ชีวิตล้วนมีทาบเงาของความเศร้าพาดผ่านความรักอยู่เสมอ..ไม่มากก็น้อย..เป็นความทรงจำ..เหนือใจ..!

“บทกวีจึงเล่าว่าเศร้านัก/เขียนถึงรักครั้งหนึ่งซึ่งเคยหวาน/เขียนถึงคนเคยคู่ฤดูกาล/เขียนถึงวารอันอุ่นและคุ้นใจ/”

“ภาพทรงจำซ้ำซากที่อยากลืม/ต้องหยิบยืมความหวังจากครั้งไหน/มาลบความผูกพันเหล่านั้นไป/จากเยื่อใยผูกพันของวันเดิม คำถามแห่งบทกวีของ “ชนากานต์” ให้ความรู้สึกดั่งบทเพลงรักแสนเศร้า..แม้จะฟังดูเข้มแข็งแต่..ในผัสสะแท้จริง กลับจมดิ่งอยู่กับพลังของเพลงอาวรณ์..ชีวิตล้วนมีทาบเงาของความเศร้าพาดผ่านความรักอยู่เสมอ..ไม่มากก็น้อย..เป็นความทรงจำ..เหนือใจ..!

“บทกวีจึงเล่าว่าเศร้านัก/เขียนถึงรักครั้งหนึ่งซึ่งเคยหวาน/เขียนถึงคนเคยคู่ฤดูกาล/เขียนถึงวารอันอุ่นและคุ้นใจ/”

“ภาพทรงจำซ้ำซากที่อยากลืม/ต้องหยิบยืมความหวังจากครั้งไหน/มาลบความผูกพันเหล่านั้นไป/จากเยื่อใยผูกพันของวันเดิม / “ชนากานต์” พูดถึงความต่างในความรักอย่างน่าครวญคิด...มันคือความซื่อตรงที่ไร้นิยามแห่งข้อกำหนด..แต่ขึ้นอยู่กับความตระหนักรู้ที่ชีวิตจะเอื้อมกายร่างออกไป..โอบกอดในวิถีคิดแห่งการกระทำของกันและกัน..หากลึกซึ้งและเข้าใจเกี่ยวกับอุบัติการณ์นี้..ความรักก็ย่อมประสบกับเสียงดนตรีแห่งรักอันพร่างพรายเหนือจินตนาการ..

“เธอจึงรักฉันได้ในความต่าง/รักได้อย่างไม่ต้องเฝ้าร้องขอ/รักที่รู้รสหวานของการรอ/รักที่ต่อเติมด้วยความสวยงาม”

“เพราะเธอรักดอกไม้รักสายลม/จึงสุขผสมด้วยใจไร้คำถาม/รักโดยไม่ค้นคว้าหานิยาม/รักด้วยความเป็นมิตรนิจนิรันดร์”

ความรักที่..สถิตแน่นอยู่กับใจ..เป็นอาวุธร้ายที่คอยทิ่มแทงปะทุอารมณ์อยู่มิได้ขาด..ตราบใดที่หัวใจที่ผูกมัดยังไม่ถูกแก้บ่วงแร้วของความเสน่หา..จวบจนกระทั่งสำนึกแห่งสำนึกได้เรียนรู้ถึงรสชาติแห่งตัวตนของมัน..ความคลี่คลายของนัยแห่งการตระหนักรู้จึ่งเกิดขึ้น..ในนามของ “นักฝัน”

“ฉันยังเป็นนักฝันผู้ดั้นด้น/และหลุดพ้นจากวารมานานเนิ่น/จึงในฤดูกาลผ่านเผชิญ/มิขาดเขินเกรงกริ่งต่อสิ่งใด”/

“เธอยังเป็นนักฝันผู้ผันแปร/และเอาแต่จมอดีตที่ขีดไว้/จึงในฤดูกาลที่ผ่านไป/มิเคยไกลออกจากฉากที่เป็น” /...แท้จริง..ชีวิตของคนคนเราจำต้องมีข้อตระหนักรู้ถึงว่า..เราต้องมีผัสสะต่อการเบิกบานงดงามภายในใจด้วยฐานรากแห่งดอกไม้..ที่สามารถจะเบิกบานได้บนลานใจ ...อันชื่นใจ..

“เราเริ่มไถพรวนสวนดอกไม้/เมื่อหยาดใจไหลพรมมาห่มขวัญ/หว่าในเมล็ดเม็ดน้อยทั้งร้อยพัน/แล้วรอวันมันสะพรั่งไปทั้งลาน”/ “วานเธอเฝ้ารดน้ำในยามแล้ง/ฉันจะแบ่งเวลาเพื่อมาหว่าน/โรยเม็ดปุ๋ยความเชื่อมาเจือจาน/เมื่อดอกบานเราจะยืนร่วมชื่นใจ”/..ความรู้สึกแห่งผูกพัน..เชื่อมโยงความรู้สึกอยู่เหนือบทกวี.. “ชนากานต์” ทำให้ถ้อยสำนึกเหล่านี้ แปรค่าเป็นความงามของความหมายที่มีใจแห่งใจเป็นเครื่องกำหนด..ดุจดวงดาวที่ทอแสงเรื่อเรืองเหนือแม่น้ำ..ณ ขณะจิตแห่งความอ่อนละมุน..

“..ว่ายามเช้าหนาวไหมในหุบเขา/มีสายลมบางเบาเหมือนวันก่อน/ว่ายามเย็นที่นั่นตะวันรอน/มีดอกหญ้าไหวฟ้อนอยู่เต็มลาน”/ “ดาวยังทอแสงเรื่อเหนือแม่น้ำ/เพลงขุนเขายังร่ำละมุนหวาน/จันทร์ยังคงนวลเย็นเช่นก่อนกาล/หวังยังคงขับขานทุกคืนวัน”/ครั้นชีวิตล่วงผ่าน..สิ่งที่ “ชนากานต์” ร้องขอผ่านบทกวีของเธอ ก็คือคำเปรียบเปรยชีวิตกับ...เรือนใจ..ที่ความฝัน..ต้องไม่ถูกขโมยไปแม้เมื่อใด..!

“อย่าให้ความร่วงโรยขโมยฝัน/หลงยึดมั่นกอบกำคำสรรเสริญ/ความผิดพลาดอาจฉุดให้หยุดเดิน/จนมองเมินสายหมอกดอกไม้บาน”/

“หากทุกข์โถมโจมตีดีอย่าหนีหน้า/ไว้เด็กน้อยนั้นพาเธอมาบ้าน/บ้านที่เธอจากลามาแสนนาน/บ้านที่เราเรียกขานว่า..เรือนใจ” ที่สุด ความรักก็มีข้อสรุปเป็นด้านที่สะท้อนกลับของชีวิต..เป็นความเข้าใจที่ซ้อนอยู่ในความเข้าใจ..ตราบเท่าที่ความรัก..ได้สร้างศรัทธาขึ้นมา..จนพ้นจากความไหวเพ้อ..ใดๆ..

“..ผู้ขึ้นล่องท่องผ่านธาราชีวิต/เก็บจุมพิตตกหล่นบนทางฝัน/เพื่อต่อเติมห้องใจของวันวัน/ไว้บอกเล่าต่อกันวันพบเจอ”/ “ฉันจึงรักความเป็นเธอเสมอมา/ด้วยศรัทธาที่มิใช่ความไหวเพ้อ/เพราะทุกอย่างที่หล่อหลอมก่อเป็นเธอ/ช่างเลิศเลอสมค่าคำว่า..รัก”/หลายๆขณะที่ความรักได้กลับกลายเป็นความเศร้าที่เศร้าลึก..จะบริบทแห่งการเคียงคู่..มีโลกขนานแห่งการโอบกอดที่บาดเจ็บอย่างสากรรจ์..ความรักในผูกพันของชีวิตเกี่ยวร้อยกันไว้ในหลายปมเงื่อน..แต่ปมเงื่อนที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำที่สุดก็คือ..โศกนาฏกรรมแห่งการพลัดพรากที่ไม่อาจเยียวยาและหวนคืนกลับ..มันคือความแหว่งวิ่นและเร้นหาย..อันถาวร!

“ความทรงจำวิ่งเร้นแล้วเร้นหาย/หรือสลายไปในฟ้ามหาศาล/หรือว่าเคยเก็บงำจนรำคาญ/ภาพวันวานมันเยอะจนเปรอะใจ”/ “แม่ผู้คอยอดทนสนทนา/พ่อกับสบนัยน์ตาเหมือนบ้าใบ้/ราวไม่อยากรับรู้กับผู้ใด/เงียบอยู่ในโลกเงียบอันเยียบเย็น”

บทกวี “พ่อผู้ลืมเรือนชาน ..และกาลเวลา” บทนี้..ทั้งกระทบใจและสามารถสั่นไหวมโนสำนึกได้มากที่สุด/ในรวมบทกวีชุดนี้..มันคือธารสำนึกที่ถูกกลั่นออกมาจากใจด้วยอารมณ์ร่วมแห่งรอยบาดเจ็บแท้จริง/

นี่คือ..คุณค่าแห่งภาษาในความเป็นจริงของความรู้สึกจริง..ที่ “ชนากานต์” ได้สรรค์สร้างขึ้นผ่าน..คลังอารมณ์อันไหวเคลื่อนของเธอ..ในฐานะของผู้หญิงธรรมดา..ที่คล้ายดั่ง"ผู้มาเยือนความเคลื่อนไหว”..

“ฉันเป็นเพียงรุ้งรายทอสาบเศร้า/ทอดโค้งเหงาสุดตาขอบฟ้าหมอง/เพียงสายฝนรินรดหมดละออง/ก็ลับล่องลอยหายจากสายตา../ฉันเป็นเพียงผู้มาเยือนความเคลื่อนไหว/แล้วจากไปโดยไร้ใครห่วงหา/เพียงแค่การมาถึงหนึ่งเวลา/ใช่พบพานิรันดร์..ฉันรู้ดี”

ณ..ที่สุด..ความรักในความหมายของ “ชนากานต์” หมายถึงสิ่งใด..มันโยงใยถึงสิ่งใดในโลกแห่งชีวิต..มันคือทรัพย์สินสมบัติของเจตจำนงใดในวิถีที่เร้นซ้อน..จนยากจะค้นพบ..!

“ซ่อนในลึกแต่ก็เห็นความเร้นลับ/ตื่นที่เหมือนเช่นกับหลับแล้้วฝัน/ความมืดมิดที่สว่างดั่งกลางวัน/ผูกเกี่ยวพันด้วยเส้นใยที่ไร้เงา/ “ใสกระจ่างกลางคืนอันมืดดำ/เริงระบำท่ามเพลงบรรเลงเหงา/ดังในความเงียบงันอันแสนเบา/และเต้นเร่าในแสงพลบดุจคบไฟ”

“ชนากานต์” ได้ส่องทางให้เห็นถึงภาวะ “เหนือกว่ารัก” เพื่อย้ำเตือนให้ “คนรักทุกคน” สามารถเข้าใจในหัวใจของความรักโดยไม่กังวล..

 บทสรุปดังกล่าวนี้..คือ “มรดกแห่งจิตวิญญา” ที่เปิดดวงตาของการรับรู้..สู่ภาวะรู้สึกอันปลดปลง..แท้จริง!..

“..ความเป็นเพื่อนที่เหลือเหนือกว่ารัก/และงดงามเกินจักจะผลักไส/การต้องปล่อยมือบ้างเมื่อย่างไป/ฉันเข้าใจทุกครั้งอย่ากังวล/ เพียงความรักในวัยของหนุ่มสาว/เหมือนลมหนาวเคลื่อนไหวไปอีกหน/ใครจะรู้ดีเท่าเราสองคน/วันเปียกฝนเปียกปอนซ่อนน้ำตา..”/..ความรักคืออะไรกันแน่?..นั่นคือคำถามที่เปิดกว้างและดิ่งลึกต่อการไขขานของชีวิต..นับจากนัยแห่งความเป็นปัจเจกแห่งตน/การรับรู้ในโลกกว้างของสังคม/หรือแม้แต่..ลึกลงไปในโลกอันเร้นลับของจักรวาล..”

ผ่านรวมบทกวีเล่มนี้ “ชนากานต์” ได้ร่ายเรียงคำตอบอันซื่อตรงผ่านหัวใจของความเป็นปัจเจก..ขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นการณ์เฉพาะของตัวตนออกมา/จากโลกเฉพาะตัว ขับขานและเดินทางสู่จักรวาลนิยมแห่งผัสสะความหมาย..เธอเข้าใจในความหมายอันซ้อนซับแห่งความรักในแต่ละเศษเสี้ยวของเธออย่างอิ่มเต็ม

..ทั้งด้วยสายตาแห่งหัวใจที่มองเห็น/และด้วยลมหายใจแห่งกายร่างที่เริงรำอยู่ในความตื่นรู้..

นี่คือ ธารสำนึกส่วนหนึ่งของภาวะแห่งความเป็นบทกวี..ในรวมบทกวี “เหลือความรักเอาไว้..ให้กับโลก” ที่ “ชนากานต์ เหลียงพานิช..” ได้ปลูกสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้สึกและ ความคิดให้แก่เรา..ด้วยท่าทีและบริบทแห่งความเป็นปัจเจก..ที่กอปรสร้างประสบการณ์แห่งการรับรู้และเรียนรู้ในชีวิต..ผ่านรสชาติแห่งเนื้อในของ “ลีลากวี..”

แม้นัยเรื่องราวจะรายรอบด้วยเรื่องเฉพาะตัว..แต่นั่นก็ไมใช่ข้อจำกัดที่จะทำให้รวมบทกวีชุดนี้อ่อนพลังหรือด้อยค่าลง..  เนื่องเพราะ..สภาวะแห่งความเป็นปัจเจกอันแท้จริง..ย่อมคือด้านลึกแห่งความเป็นตัวตนที่ไม่มีใครก้าวล่วงได้.. “จริงจังด้วยเนื้อแท้ และ..เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายของชีวิต” ที่..ซื่อตรง สุกสว่าง และ

เป็นเอกภาพกับตนเองอย่างพิศาลพิสุทธิ์...! และนั่นคือ..ความงามและความหมายในสัมผัสรู้ของรวมบทกวี..แห่งความรักของความรัก...เล่มนี้!

“...เหลือความมืดเอาไว้ให้ดวงดาว/ได้ส่องแสงวับวาวทุกดึกดื่น/ เหลือร่มไม้เอาไว้ให้พักยืน/ได้พักร่างรับรื่นกับลมเย็น"/