บูรพา โชติช่วง / รายงาน
จังหวัดในพื้นที่ชายแดนใต้มีความโดดเด่นอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย อาหาร วิถีประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านภาครัฐชูแนวทางขับเคลื่อนปี 2568 ส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งสังคมพหุวัฒนธรรม บูรณาการทำงานพื้นที่ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ดึง Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.) ได้ถอดบทเรียนโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งวธ.ได้นำมิติทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความหลากหลายทางด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ ด้วยการดำเนินโครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่เกิดความภาคภูมิใจและความตระหนักในการอนุรักษ์ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข
นอกจากนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดี นำมาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ทำให้นักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรมฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่นำมาถอดบทเรียน ประกอบด้วย เทศกาลริเวร่าท้าลมร้อน จ.ปัตตานี เทศกาลฟื้นย่านชุมชนโบราณเมืองเบตง จ.ยะลา และเทศกาลเรือกอและ ศิลปะสีและลวดลาย จ.นราธิวาส ซึ่งจากการถอดบทเรียนฯ ได้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนาต่อยอดการขับเคลื่อนงานพหุวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อาทิ การจัดงานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่ ส่งผลให้ทุกคนรู้จัก Soft Power หรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดการยอมรับประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสันติสุขบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมด้วยมิติทางวัฒนธรรมในพื้นที่ อาทิ การจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดทำองค์ความรู้ด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารและขนมไทย ด้านภูมิปัญญาสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดทำคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
“ทั้งนี้ในการประชุมถอดบทเรียนดังกล่าว ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยนำผลที่ได้จากการถอดบทเรียนฯ ไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่สำคัญจะเน้นการบูรณาการการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่และหน่วยงานในสังกัดวธ. อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม” ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว