ผ่านพ้นปีจอ ก้าวเข้าสู่ปีกุนมาแล้ว ธุรกิจประกันภัยปีนี้ต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างไรบ้าง “สยามรัฐ”ขออนุญาตนำพื้นที่นี้ประมวลภาพลงกันให้ดู -ประกันประเดิมปีหมูเซ่นพายุ”ปาบึก”-ทัวร์พลิกคว่ำ ก้าวเข้าศักราชใหม่เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่เขย่าขวัญวงการประกันภัยขึ้นมาทันทีถึง 2ครั้ง 2 คราด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุพายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มทางภาคใต้ และได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอำเภอเมือง และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด จนทำเอาบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยต้องไล่ตรวจสอบว่ามีลูกค้าของตัวเองมากน้อยขนาดไหน และร่วมกับคปภ.ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันต่ออายุ หรือยกเว้นดอกเบี้ย รวมไปถึงการใช้หลักเกณฑ์จ่ายสินไหมรถยนต์และทรัพย์สินน้ำท่วมในปี 2554มาเป็นหลักเกณฑ์ ถัดมาติดๆก็เป็นรถทัวร์พลิกคว่ำตกร่องกลางถนนพหลโยธิน ขาเข้า กม.ที่ 35+100 ตรงข้ามห้างไทยวัสดุ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จนมีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บจำนวนมากถึง 52 ราย โดยงานนี้บมจ.วิริยะประกันภัยรับประกันชั้นสาม และพรบ.ฯไปเต็มๆ ซึ่งถือว่าประเดิมจ่ายสินไหมรับศักราชปีหมูเลยก็ว่าได้ ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นประเดิมปีนี้เลยก็ว่าได้ ก็คงต้องติดตามกันดูว่า ในตลอดทั้งปีนี้จะเกิดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติใดๆเกิดขึ้นตามมาอีกบ้าง -ประกาศเสนอขายใหม่สะท้านทั่ววงการ ประเด็นฮอต!ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจทีเดียว ก็คงจะเป็นประกาศเสนอขายใหม่ที่จะรับลูกกับพรบ.ประกันชีวิตและพรบ.ประกันวินาศภัยที่มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระใหม่ และออกมามีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา เรียกว่ามีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในการขายทุกช่องทางจำหน่ายอย่างลงลึกขึ้น ไปถึงกระบวนการดูแลตัวแทนนายหน้าในสังกัดตัวเองว่า ขายแบบไหน ขายผิดถูกอย่างไร และลงไปดูผลประโยชน์ของลูกค้าด้วย ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ผ่านๆมาที่นั่งนับเบี้ยประกันรับเข้ามาแต่ละวันอย่างเดียว รวมไปถึงต้องลงไปดูช่องทางขายผ่านแบงก์ หรือเทเลมาร์เก็ตติ้งด้วยว่าทำอย่างไร โดยผู้บริหารบริษัทจะต้องกำหนดแนวปฏิบัติออกมา โดยต้องมีกระบวนการบริหารความเสี่ยง มีการเทรนบุคลากร ซึ่งจะต้องเป็นระบบทั้งหมด โดยนับแต่ต้นปีนี้ไปทางคปภ.คงจะทำแนวปฎิบัติแบบกว้างๆให้ภาคเอกชนเดิน เนื่องจากแต่ละบริษัทมีฐานลูกค้าและช่องทางขายไม่เหมือนกัน ซึ่งนับแต่ปีนี้เป็นต้นไปคปภ.จะเข้าไปสุ่มตรวจ ดูวิธีการ โดยกม.ใหม่ได้ให้อำนาจบริษัทประกันสามารถสั่งระงับตัวแทนนายหน้าไม่ให้ขายได้ทันที หากพบว่า ให้อำนาจตัวแทนนายหน้าไปกระทำการขายแล้ว ไม่เป็นไปตามแนวปฎิบัติ ซึ่งปีนี้คงจะทำเอาบรรดาผู้บริหารยันเจ้าของกิจการบริษัทประกันหัวหมุนอย่างมากทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องนี้ -กฎเหล็กใหม่หนาวตัวแทนนายหน้าเชิดเงินลูกค้า ในอีกมุมหนึ่งของการกำกับดูแลตัวแทนนายหน้า คปภ.ก็มีการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ตั้งแต่การออกใบอนุญาต ต่อใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนการขาย การปฎิบัติหน้าที่ของตัวแทนนายหน้า โดยมีการเพิ่มโทษของการพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตเฮี้ยบ!ขึ้น ซึ่งขณะนี้คปภ.กำลังร่างแนวทางอยู่ว่า จะทำอย่างไรถึงจะเรียกว่า ให้มีการพักใช้ใบอนุญาต โดยค่อนข้างแล้วว่า จะมีการกำหนดโทษใบเหลือง 2 ใบ จึงจะแจกใบแดงคือเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงการฝ่าฝืนระหว่างพักใช้ใบอนุญาต ควรกำหนดโทษอย่างไร ตลอดจนโทษปรับ ซึ่งดูจะเพิ่มโทษหนักขึ้น หลังจากที่คปภ.ได้เสนอสนช.ไปอัตราสูงสุดอยู่ที่ 1 แสนบาท แต่พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต หัวเรือใหญ่สนช.ที่ดูแลกม.ประกันที่แก้ไขดังกล่าวได้ตีกลับมาแก้ไขใหม่ เนื่องจากเห็นว่า โทษยังเบาเกิน เห็นควรเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า ซึ่งหากกม.ใหม่ประกาศใช้เมื่อไหร่ บรรดาตัวแทนนายหน้าขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยคงจะหนาวๆกันทีเดียว โดยเฉพาะพวกแก๊งมันนี่เกมส์ -ลุ้น!ไฟเขียวพนง.ขายประกันนอกแบงก์ ถัดมาที่เป็นประเด็นเผือกร้อนสำหรับวงการประกัน เห็นจะเป็น Market Conduct ซึ่งผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนมาแล้วเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ปี 61 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เดิมทีจะให้เอกชนเตรียมตัว และออกประกาศใช้ปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่า คปภ.เพิ่งจะมาออกประกาศเสนอขายซึ่งรวม Market Conduct เอาเดือนธ.ค.61 เลยมีอันต้องผ่อนผันให้เลื่อนมาใช้ได้บางส่วนในปี 62กัน ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจประกันภัยในปีกุนทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นการตีความอนุญาตให้พนักงานธนาคารสามารถออกมาขายนอกสถานที่ ซึ่งคปภ.คงจะต้องออกเนื้อหาสาระไกด์ไลน์ออกมาตีความกันว่า ขอบเขตขนาดไหนที่จะให้พนักงานธนาคารพาณิชย์ออกมาขายประกันนอกสถานที่ได้ ซึ่งรายละเอียดตัวนี้ยังไม่ชัดเจน และคงจะต้องจับตากันดูว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ทางสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน(Thaifa) จะมีท่าทีออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีพนักงานแบงก์ออกมาขายประกันนอกแบงก์กันหรือไม่ และอย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับช่องทางขายประกันผ่านแบงก์ในปีนี้อย่างมากทีเดียว -คปภ.กดปุ่นไล่ฟ้องร้องคดีฉ้อฉลอุตลุต ถัดไปก็คงจะเป็นกรณีฉ้อฉลที่มีการแก้ไขเนื้อหาสาระเพิ่มเติมเข้าไปในร่างพรบ.ประกันฯทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย เปิดศักราชเดือนแรกมานี้ ในส่วนคปภ.คงจะเปิดฉากปฎิบัติการบังคับใช้กฎหมายเล่นงานกับเรื่องฉ้อฉลอย่างเข้มข้นทีเดียว ซึ่งก็คงต้องติดตามกันดูว่าปีนี้บรรดาตัวแทนนายหน้าขายประกันหรือบริษัทโบรกเกอร์ประกันเถื่อนจะยังกล้าเหิมเกริมอมค่าเบี้ยประกัน ไม่ส่งบริษัทอีกหรือไม่ หรือประเภทต้มตุ๋นหลอกทำประกันลูกค้าประกันรถยนต์แล้วเชิดหนียังจะมีกันอีกหรือไม่ รวมไปถึงประเภทการซูเอี๋ย หรืออะลุ่มอะล่วยไม่ติดใจเป็นคดีความเอาผิดกันระหว่างพนักงานกับบริษัทประกันต้นสังกัดด้วยตัวเอง ยังจะมีต่อไปหรือไม่ เพราะกม.ใหม่ที่แก้ไขออกมาให้อำนาจคปภ.เป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ทันที แถมกรณีฉ้อฉลเป็นคดีอาญาเสียด้วย แต่ที่แน่ๆคดีฟ้องที่คปภ.จะเป็นโจทย์ฟ้องร้องเรื่องฉ้อฉลคงจะกองพะเนินที่คปภ. จนทำให้เจ้าหน้าที่กุมขมับและรับมือกันไม่หวาดไม่ไหวเป็นแน่ ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของเลขาฯคปภ.จะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรกันดี -พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลป่วน!วงการ ในมุมกลับกัน ทางความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนโดยเฉพาะสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยคงจะทำงานกันหนักทีเดียว สำหรับการหาวิธีการป้องกันหรือควบคุมการทุจริตฉ้อฉลและประเภทฉ้อฉลสีเทาๆของบรรดาลูกค้า โรงพยาบาลและบุคคลเกี่ยวข้อง ซึ่งค่อนข้างจะมีความยากลำบากในการแชร์ข้อมูลแลกเปลี่ยนกันระหว่างภาคธุรกิจ เนื่องจากกฎหมายใหม่คือ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกมาในปีนี้ไม่เอื้ออำนวย แม้ว่าภาคเอกชนกำลังมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างคปภ.และสมาคมประกันฯเพื่อหาทางล้อมคอก แต่ดูเหมือนพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นปัญหาอุปสรรคไม่น้อยสำหรับภาคธุรกิจและคปภ. เพราะในแง่บริษัทประกันก็คงไม่กล้าส่งข้อมูลลูกค้าให้คปภ. เพราะลูกค้าไม่ได้เซ็นยินยอมให้บริษัทประกันนำไปแชร์พอรต์โฟลิโอต่อให้กับบริษัทประกันรายอื่นๆด้วยกันรวมถึงคปภ.อีกทอดหนึ่ง ประเด็นเผือกร้อนนี้ทำให้คปภ.และภาคธุรกิจมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลการฉ้อฉลของแก๊งมิจฉาชีพหรือลูกค้าที่ทุจริตฉ้อฉล โดยเฉพาะการจัดตั้งอินชัวร์บูโรจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลย หากไม่ปลดล็อกเรื่องนี้ จึงทำให้คปภ.คงต้องวิ่งวุ่นสภาฯตั้งแต่ต้นปีไก่โหเลยทีเดียว เพื่อคลี่คลายปมจุดนี้ โดยอนุญาตให้เช่นเดียวกับแบงก์ชาติที่ได้เคลื่อนไหวไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อปลดล็อคให้คปภ.สามารถรับการแชร์ข้อมูลของภาคเอกชนได้ เช่นเดียวกับกรณีของเครดิตบูโรที่กระทำได้ และที่สำคัญเห็นว่า ในร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังเปิดช่องให้ลูกค้ามีสิทธิให้บริษัทประกันลบข้อมูล หรือถอนความยินยอมทั้งหลายที่ให้ไปได้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลเรียกว่า เรื่องนี้คงจะสร้างความปั่นป่วนสำหรับวงการประกันไม่น้อยเลยในปีนี้ ขณะเดียวกันการซื้อขายกิจการหรือเทคโอเวอร์ก็คงจะปั่นป่วนไม่น้อย เพราะปกติการทำดิวดิลิเจนท์ จะต้องมีการเรียกดูพอร์ตลูกค้าว่า มีการเสียหายหรือโกงกันหรือไม่ ถ้าลูกค้าไม่ยินยอม ผู้ถือหุ้นเดิมบริษัทก็คงไม่กล้านำข้อมูลลูกค้าให้ใครก็ตามที่จะมาซื้อตรวจสอบดูได้เลย -จับตาส.ประกันชีวิตฯเบรครพ.ชาร์ค่ารักษาโหด ต่างทราบกันดีว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของสถานรักษาพยาบาลต่างๆมีการปรับราคาสูงขึ้นๆทุกปี จนเป็นต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายต่อบริษัทประกันต่างๆที่รับประกันสุขภาพในจ่ายเคลมจุดนี้สูงขึ้น กระทั่งเวลานี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต่างอยู่ลำบาก พากันยกเลิกขายแบบประกันที่มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลสูงและขาดทุนเป็นแถว โดยเฉพาะแบบประกันเด็กที่อายุ 0-10 ปี บ้างก็นำมาทบทวนแบบประกันและนำออกมาขายใหม่ ด้วยการชาร์ทเบี้ยประกันขยับสูง เพื่อให้สอดคล้องแทนยกเลิกการขายก็มี แต่ปมปัญหาอยู่ที่ว่า ภาคเอกชนบางรายมีการขยายผลบังคับใช้รวมไปถึงลูกค้าเดิมที่ได้ซื้อประกันไว้อยู่เดิมแล้ว ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจในจุดนี้ โดยที่ผ่านมาทางคปภ.ก็มีความคิดว่า ไม่ควรจะมีผลบังคับใช้กับลูกค้าเดิมที่ซื้อไว้อยู่แล้ว ขณะที่บริษัทประกันก็อยากจะให้ขยายรวมไปถึงด้วย เพราะไม่อาจจะแบกภาระค่าสินไหมที่สูงได้ อีกทั้งขึ้นชื่อว่า “ประกันสุขภาพ”คุ้มครองปีต่อปีอยู่แล้ว ก็ย่อมจะสามารถปรับขึ้นเบี้ยได้เพื่อให้สอดคล้องภาระความเสี่ยงปัจจุบัน ซึ่งก็คงเป็นเกมวัดใจคปภ.ในปีนี้ว่า จะลงเอยเรื่องนี้อย่างไร ขณะเดียวกันก็คงจะต้องจับตาว่า ทางสมาคมประกันชีวิตไทยจะเดินเกมอย่างไรในการเข้าไปต่อสู้ในเรื่องการสร้างมาตรฐานด้านราคาค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในนามคณะทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้ค่ารักษาพยาบาลถูกปรับ่ขึ้นราคาสูงขึ้นทุกปี จนเป็นภาระกระทบต้นทุนทุกวันนี้อย่างแน่นอน โดยล่าสุดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2562 ที่ผ่านมาว่า ได้พิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการประจำปี 2562 โดยในส่วนของบัญชีสินค้าควบคุม มีมติให้เพิ่มสินค้า 1 รายการ คือ ยาและเวชภัณฑ์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม -เพิ่มความคุ้มครองพรบ.ฯทำรายได้นายหน้าฯวูบ และดูจะเป็นประเด็นร้อนแรงสุดๆ และพากันกระทบไปทั้งภาคธุรกิจคงจะเป็นพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถที่กำลังจะปรับแก้ไขใหม่ 2-3 มาตราโดยสนช. ที่จะเพิ่มความคุ้มครองเพิ่มเติมให้รวมถึงทรัพย์สินด้วยในวงเงิน 5 หมื่นบาท นอกเหนือจากกรณีเสียชีวิต 3 แสนบาท และค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 8 หมื่นบาท โดยมีเงื่อนไขบริษัทประกันฯไม่มีสิทธิชาร์ทเบี้ยฯเพิ่ม ตรงนี้คงจะทำให้วงการประกันรถยนต์สะเทือนมากทีเดียว โดยปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ บริษัทประกันฯคงจะส่งเบี้ยประกันพรบ.ฯเข้าไปในพูลกลาง แล้วให้บริษัทกลางผู้ประสบภัยจากรถทำหน้าที่บริหารอย่างแน่ๆ โดยบริษัทกลางฯคงจะจ่ายค่าคอมมิชชันให้ไม่เกิน 12% รวมกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานอีกสัก 7-8% เบ็ดเสร็จรวมแล้ว 20% ก็น่าจะพอเพียงแล้ว แนวทางนี้มีกระแสมาว่า ยังจะรองรับการปรับเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตตามพรบ.ฯที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นของขวัญปีใหม่เดือนเม.ย.นี้จากเดิมจ่าย 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาทอีกด้วย เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่มีการตั้งพูลกลางมารองรับ เพราะหากขืนแต่ละบริษัทรับประกันพรบ.ฯไว้เอง คงเจ๊งกันระนาวแน่ แต่ที่แน่ๆตัวแทนนายหน้าขายประกันคงจะรายได้หายวูบไปทันทีมหาศาลทีเดียว โดยเฉพาะรายที่หากินกับประกันพรบ.ฯ ซึ่งเรียกว่าทุบหม้อข้าวตัวแทนนายหน้าหากินกับประกันรถยนต์เลยก็ว่าได้ จากความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวง คนวงการประกันคงจะเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้อย่างแน่นอน