วันที่ 26 ก.พ. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวภายหลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกันปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยระบุว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. 67 โดยในส่วนของการปฎิบัติตำรวจได้มีการสืบสวนป้องกันปราบปรามมาโดยตลอด ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำ 2 เรื่อง คือ การสืบสวนจับกุม การนำเข้า โดยให้ตำรวจบูรณาการกับศุลกากร ถ้าป้องกันการนำเข้าได้ ก็จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าลดลง และเน้นย้ำกรณีที่หลุดจากการป้องกันการนำเข้าแล้วนำมาซุกซ่อน พักพิงและจำหน่าย
เมื่อถามว่า กรณีของผู้ใช้อยู่ในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ส่วนกรณีที่มีการระบาดไปยังพื้นที่สถานศึกษา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นายกฯ เน้นย้ำเช่นกัน ขณะนี้พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมาตราการป้องกันปราบปรามของตำรวจเน้นไปที่สถานศึกษา ซึ่งในปี 2567 มีการจับกุมเกือบ 2,000 คดี และในปี 2568 ก็มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนเข้ามาโดยตลอด และฝากเตือนไปยังผู้ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกฎหมายบังคับใช้ จริงๆมีข้อกฎหมายเรื่องนี้อยู่แล้ว หากจำหน่าย นำเข้าหรือซุกซ่อนหรือทำผิดกฎหมายมีโทษจำคุก ซึ่งตำรวจมีข้อมูลบางส่วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปราบปรามจับกุม
เมื่อถามว่า ควรจะมีชุดเฉพาะกิจบริเวณหน้าสถานศึกษาหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าลุกลามไปถึงเด็กประถม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เรื่องชุดเฉพาะกิจ ขณะนี้ พล.ต.อ.ประจวบรับผิดชอบอยู่ รวมถึงมีผู้ช่วยผบ.ตร.คนอื่นๆดูแล ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยในการปฏิบัติการได้ให้ชุดสืบสวนภูธรจังหวัด ชุดสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาลที่เป็นชุดปฏิบัติการรับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบตามนโยบายและการสั่งการ โดยตนได้กำชับว่าให้ทำอย่างเข้มข้นรอบสถานศึกษาหากพบการแอบจำหน่ายหรือมีแหล่งพักพิงต้องจับกุมทั้งหมด
ขณะเดียวกันได้เข้มข้นกับตำรวจหรือข้าราชการ หากพบมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องจะดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการออกหนังสือตั้งแต่ปี 2567 พร้อมย้ำว่า ใครที่บอกว่ายังไม่มีกฎหมายจับไม่ได้นั้นไม่ใช่ เรื่องนี้มีกฎหมายชัดเจนทั้งนำเข้า ครอบครอง จำหน่าย และการใช้
เมื่อถามว่า กรณีที่มีข้อสั่งการให้กลับมารายงานความคืบหน้าภายใน 15 วัน จะได้เห็นผลในด้านใดบ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า จะเห็นผลด้านการปราบปราม โดยในระยะเวลา 1 เดือนจะมีการประเมิน โดยให้น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงบ่ายวันที่ 27 ก.พ. เพื่อหารือและดำเนินมาตรการเชิงรุกในการปราบปราม
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังเปิดเผยด้วยว่า นายกฯ ได้สอบถามเรื่องปัญหาคอลเซ็นเตอร์ โดยพล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูล ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่กระทบความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของประชาชน เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องของสุขภาพด้วย และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศด้วย