ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหารบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยระบุ ว่า การท่องเที่ยวไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 35.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.4 ล้านคน หรือเติบโต 26% เทียบปีก่อน สาเหตุหลักมาจากจำนวนนักท่องเทียวชาวจีนเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านคน เทียบปีก่อน หรือคิดเป็น 43% ของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 19%, มาเลเซีย 14% และ อินเดีย 6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ส่วน การท่องเที่ยวมัลดีฟส์ มีนักท่องเที่ยวรวม 2.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 168,072 คน หรือ เพิ่มขึ้น 9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 76,215 คน หรือ คิดเป็น 41% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเทียบปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 78,388 คน หรือลดลง 37% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 13%, รัสเซีย 11% และสหราชอาณาจักร 9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ขณะที่ การท่องเที่ยวดูไบ มีนักท่องเที่ยวรวม 18.7 ล้านคน เติบโต 9% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันตก 20%, เอเชียใต้ 17% และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 15% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมี มีนักท่องเที่ยวรวม 36.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.8 ล้านคนหรือ เพิ่มขึ้น 47% เทียบปีก่อน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านคน เทียบปีก่อน คิดเป็น 39% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ เกาหลีใต้ 24%, จีน 19% และ ไต้หวัน 16% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานรวม และรายธุรกิจของบริษัทฯ มีรายได้รวม 24,239 ล้านบาท (ปี 2566: 22,547 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,692 ล้านบาท (หรือ 8%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 46% : 54% (ปี 2566: 44% : 56%) ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 13,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,006 ล้านบาท หรือ 8% เทียบปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 57% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) เพิ่มขึ้น 1% เทียบกับปีก่อน (ปี 2566: 56%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 6,444 ล้านบาท (ปี 2566: 5,535 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 909 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 16%) จากปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 27% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน (ปี 2566 : 25%) จากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรับรู้กำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าปรับตัวดีขึ้นเทียบกับปีก่อน บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 3,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 675 ล้านบาท เทียบปีก่อน (หรือเติบโต 27%) และกำไรสุทธิจำนวน 1,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เทียบปีก่อน (ปี 2566: 1,248 ล้านบาท)
ขณะที่ทางบริษัทฯ รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 121 ล้านบาท (ปี 2566: 80 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time item) ซึ่งประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายก่อนการเปิดดำเนินงาน (pre-opening expenses) ของโรงแรมมัลดีฟส์แห่งใหม่ทั้ง 2 โรงแรม จำนวน 63 ล้านบาท 2) การกลับรายการด้อยค่าของสินทรัพย์สุทธิภาษีเงินได้รอตัดบัญชีและค่าเสื่อมราคา 17 ล้านบาท 3) ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าในค่าความนิยมแบรนด์บราวน์ คาเฟ่ จำนวน 21 ล้านบาท 4) ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์ จำนวน 106 ล้านบาท และ 5) การตั้งประมาณการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นตามกฏหมายแรงงานสุทธิกับภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 39 ล้านบาท
ในส่วนของธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,230 ล้านบาท (หรือ 12%) เทียบปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 6,233 ล้านบาท (ปี 2566: 5,525 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13% เทียบปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน (ปี 2566: 61%) ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 3,876 ล้านบาท (ปี 2566: 3,284 ล้านบาท) คิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 35% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา (ปี 2566: 33%) เนื่องจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ของผลการดำเนินงานโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ซึ่งเปิดดำเนินการเต็มปีเป็นปีแรก รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของโรงแรมในประเทศไทย ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมมีกำไรสุทธิจำนวน 1,097 ล้านบาท เติบโต 43% เทียบปีก่อน (ปี 2566: 769 ล้านบาท)
สำหรับรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 13,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 462 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 4%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร 1% (ปี 2566: 4%) ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS)ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร อยู่ที่ 4% (ปี 2566: 8%) ธุรกิจอาหารมีกำไรขั้นต้น 6,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 54% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปี 2566: 53%) และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 2,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปี 2566: 2,251 ล้านบาท) โดยมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 20% (ปี 2566: 18%) ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 656 ล้านบาท เติบโต 37% เทียบปีก่อน (ปี 2566: 479 ล้านบาท)
นอกจากนี้สถานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 60,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,557 ล้านบาท หรือ 12% เทียบกับสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์จำนวน 6,023 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการก่อสร้าง 2 โรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์, การปรับปรุงห้องพักที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และโรงแรมเซ็นทารา กะรน ภูเก็ต นอกจากนี้สินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท, สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 303 ล้านบาทและ เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้น 139 ล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นลดลง 161 ล้านบาท และ สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีลดลง 130 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตามปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดย United Nations World Tourism Organization (UNWTO) ประมาณการว่าการท่องเที่ยวโลกในปี 2568 จะขยายตัว 3% - 5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) ทั้งนี้ การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวโลก เนื่องจากภูมิภาคนี้ฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทายหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยบริษัทคาดว่า ในปี 2568 โรงแรมในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเชิงกลยุทธ์ในการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวผ่านแคมเปญและมาตรการของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน และอิทธิพลจากความนิยมที่ต่อเนื่องของประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยว สำหรับโรงแรมในญี่ปุ่น ปีนี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจัดงาน World Expo 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโอซาก้าในช่วงเดือน เมษายน – ตุลาคม 2568 โดยคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจำนวนมาก สำหรับโรงแรมในมัลดีฟส์ คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารใหม่ของสนามบินนานาชาติที่มัลดีฟส์
อีกทั้ง บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้วยความระมัดระวังโดยการปรับกลยุทธ์ทางการขายและตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย เน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ การมีวินัยทางการเงิน ขณะที่บริษัทฯยังคงการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต ด้วยการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสมจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงิน และการออกตราสารหนี้ตามภาวะตลาดการเงิน