วันที่ 26 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กล่าวความคืบหน้าแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดการมูลฝอยอัตราใหม่ว่า ปัจจุบันมีการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.68 และจะเริ่มเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ บ้านนี้ไม่เทรวม: แยกขยะลดค่าธรรมเนียม ได้ที่แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY ในวันที่ 1 ส.ค.68 โดยสมาร์ทโฟนระบบ IOS ดาวน์โหลดได้ที่ https://apps.apple.com/th/app/bkk-waste-pay/id1574454798 ส่วนระบบ Android https://play.google.com/store/apps/details
ระหว่างนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมได้วางแผนลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทั้ง 50 เขต ปัจจุบันดำเนินการแล้วกว่า 25 เขต โดยมุ่งเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะอัตราใหม่ ได้แก่ กลุ่มอาคารชุดที่มีนิติบุคคล กำหนดให้นิติบุคคลเป็นตัวแทนในการดำเนินการให้กับลูกบ้าน โดยจัดให้มีการทำรายงานการประชุมกับลูกบ้าน และมีการยินยอมให้นิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการแทน รวมถึงจัดให้มีถังแยกขยะ และรวบรวม House ID ของลูกบ้านที่เข้าร่วมนำมาลงทะเบียนผ่านแอปฯ หรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขต โดยแอปฯ จะช่วยคำนวณอัตราการจ่ายค่าธรรมเนียมในแต่ละกรณี นิติบุคคลสามารถเลือกได้ว่าจะลงทะเบียนร่วมโครงการหรือไม่
ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมที่มีนิติบุคคล ขนาด 200 ห้อง มีขยะแต่ละห้องมากกว่า 20 ลิตรต่อวัน หรือวันละ 3 ลบ.ม. จะเสียค่าธรรมเนียม ลบ.ม.ละ 8,000 บาท เป็นเงิน 24,000 บาท/เดือน แต่หากลงทะเบียนแบบกลุ่มเพื่อแยกขยะตามเกณฑ์ห้องละไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม จะเสียค่าธรรมเนียมห้องละ 20 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท/เดือนเท่านั้น
ส่วนชุมชน หมู่บ้าน อาคารชุดที่ไม่มีนิติบุคคล สามารถลงทะเบียนแบบเดี่ยวได้ที่แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY โดยแยกขยะให้เหลือไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือที่สำนักงานเขต เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอนุมัติการลงทะเบียนเสร็จสิ้น ผู้ลงทะเบียนจะได้รับถุงแยกขยะเศษอาหาร (ถุงเขียว) ฟรี 1 ปี เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบการคัดแยกขยะต่อเนื่องเพื่อรักษาสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ หรือสามารถส่งภาพหลักกฐานการแยกขยะผ่านแอปฯ ดังกล่าว เพื่อรักษาสิทธิ์เสียค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาทต่อไป
สำหรับแนวทางจัดการขยะเศษอาหารของ กทม. แบ่งเป็น ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยต้นทางให้แต่ละบ้านเทน้ำ กรองเฉพาะเศษอาหาร นำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือนำใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่น ทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด ส่วนกลางทาง กทม.กำหนดรถจัดเก็บเฉพาะเศษอาหาร 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และปลายทาง นำส่งโรงงานปุ๋ยหมักต่อไป
นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า แนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ สอดคล้องกับนโยบายลดขยะกรุงเทพมหานคร 1,000 ตันต่อวัน เนื่องจากกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะ ทำให้ปริมาณขยะที่ กทม.ต้องนำไปกำจัดลดลง ส่งผลการใช้งบประมาณในการกำจัดขยะลดลงด้วย
สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็น ค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลต่อครั้ง คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท) กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาท/20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลบ.ม.ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท/1 ลบ.ม.) ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.