บอร์ดดีเอสไอ เหลือเพียง 19 คน ขาด 3 คน “ผบ.ตร. - พล.ต.ท.สำราญ - พล.ต.อ.สุทิน“ จากทั้งหมด 22 คน เริ่มประชุมพิจารณาคดี “ฮั้ว สว.67” เป็นคดีพิเศษวาระแรก ”ภูมิธรรม“ นั่งประธาน “ทวี” รอง ปธ. “โกมล” รับมอบหมายแทน ”ปลัด ยธ.“ นั่งกรรมการ ส่วนหน่วยงานปลัดกระทรวงอื่นล้วนมอบผู้แทน ลุ้นผลเอกฉันท์ 19 เสียง หรือปริ่มน้ำ ด้าน “ภูมิธรรม” เอ่ยกล่าวก่อนประชุม ยืนยันพิจารณาไปตามเนื้อผ้า ตนไม่มีปัญหาหรือข้อขัดข้อง แต่เรื่องนี้มีผลกระทบต่อสถาบันหลักของประเทศจึงน่าเป็นห่วง หากชัดเจนว่าไม่มีอะไรก็ต้องว่าไปตามนั้น ไม่อยากให้ใช้อารมณ์ความรู้สึกมาเป็นตัวกำหนด หรือตัวตัดสิน เชื่อมั่นในเกียรติยศและศักดิ์ศรีของกรรมการทุกคน 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 ก.พ. ที่ ห้องประชุม 10-01 ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นัดประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งอีก 10 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ อีก 9 คน ได้แก่ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านกฎหมาย ด้านการสอบสวนคดีอาญา ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการและเลขานุการ ร่วมกันพิจารณาเรื่องเสนอของคณะพนักงานสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมีมติในที่ประชุมรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งการประชุมมี 2 วาระสำคัญที่จะมีการเสนอขอมติรับเป็นคดีพิเศษ คือ เรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา ส่วนอีกวาระ คือ เรื่องสืบสวนที่ 9/2568 กรณี การทุจริตสวมสิทธิ์ยางพาราไทย กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงของเกษตรกรไทย

สำหรับการประชุมของบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ทั้ง 22 ราย เพื่อมีมติเห็นชอบรับคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) หรือเป็นคดีความผิดทางอาญาอื่น คณะกรรมการคดีพิเศษต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 15 เสียง หรือกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กำหนดให้เป็นคดีพิเศษ ล่าสุดพบว่าผังที่นั่งประชุมบอร์ดคดีพิเศษ ครั้งที่ 2/2568 มีดังนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานกรรมการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายโกมล พรมเพ็ง ผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นางดวงตา ต้นโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว ผู้แทนอัยการสูงสุด นายณรงค์ งามสมมิตร ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพนิต ธีรภาพวงศ์ ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง 

ต่อมาเวลา 13.40 น. ช่วงแรกของการประชุม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หากมีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ให้เห็นว่ามีปัญหา เราก็จะนำเข้าสู่กระบวนการรับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการต่อไป หากไม่ใช่ ไม่ชัดก็จะพิจารณาไปตามเนื้อผ้า ยืนยันว่าตนเองไม่มีปัญหาหรือข้อขัดข้อง แต่เรื่องนี้มีผลกระทบต่อสถาบันหลักของประเทศจึงน่าเป็นห่วง และในทางปฏิบัติหากชัดเจนว่าไม่มีอะไรก็ต้องว่าไปตามนั้น ไม่อยากให้ใช้อารมณ์ความรู้สึกมาเป็นตัวกำหนด หรือตัวตัดสิน พิจารณาไปตามเนื้อผ้า เพราะเราต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเหตุผลที่ยอมให้บรรจุเป็นวาระในการพิจารณาครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐาน จึงต้องแสดงให้ทุกคนที่เป็นกรรมการได้รู้ หากเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดก็จะพิจารณาไปตามความเหมาะสม

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงขอเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดเต็มที่ และออกความเห็นให้เต็มที่ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นความชัดเจนและดำเนินการต่อไป เชื่อมั่นในเกียรติยศและศักดิ์ศรีของกรรมการทุกคน อยากให้พิจารณาในกระบวนการที่เที่ยงธรรมและถูกต้องตามหลักกฏหมายและข้อเท็จจริง โดยจะขอให้นำวาระคดีการเลือก สว. มาพิจารณาเป็นวาระแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ แจ้งว่ามีกรรมการมาประชุมทั้งหมด 19 คน จาก 22 คน โดยขาดกรรมการโดยตำแหน่ง 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมประชุม แต่ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม เป็นผู้แทน แต่ปรากฏว่า พล.ต.ท.สมประสงค์ ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม จึงทำให้ขาดกรรมการโดยตำแหน่ง ขณะที่ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่าง พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ขาดการประชุม โดยมีการให้เหตุผลขาดประชุมว่า มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้าแอดมิตโรงพยาบาลและติดภารกิจ ซึ่งรายงานระบุว่าตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านไม่ควรขาดการประชุม เป็นเหตุให้ในวันนี้บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จากเดิมที่จะต้องเข้าประชุมทั้งหมด 22 ราย เหลือเพียง 19 ราย