รอง อสส.จัดสัมมนา อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์
ป้องกันการก่อการร้าย
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ ห้อง Learning Studio 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานในการเปิดสัมมนาระดับชาติเรื่องอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับสหภาพยุโรป (European Union : EU) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ร่วมกันจัดการสัมมนาระดับชาติเกี่ยวกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (ICSANT) เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพพนักงานอัยการไทยในการปฏิบัติงาน เตรียมพร้อมรับมือในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (National Seminar on the International Convention for the Suppression of Acts of Nuclear Terrorism) มีน.ส.ฟรานเชสกา อาราโต หัวหน้าทีมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ฝ่ายเครื่องมือนโยบายต่างประเทศคณะกรรมาธิการยุโรป คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายเบเนดิกต์ ฮอฟฟ์มัน รองผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสัมมนาระดับชาติครั้งนี้ มีพนักงานอัยการจากสำนักงานคดีต่างๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมกิจกรรม รวม 40 คน โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ UNODC, INTERPOL, สำนักงานอัยการสูงสุดเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นายจุมพล กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานอัยการของไทยเกี่ยวกับการดำเนินการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (International Convention for the Suppression of Acts of Nuclear Terrorism – ICSANT) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยอนุสัญญาดังกล่าวถือเป็นกลไกระหว่างประเทศที่สำคัญในกรอบการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรการและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน และปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำผิดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินโดยใช้วัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ และการก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และโรงงานหรือยานพาหนะที่มีวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พนักงานอัยการไทยจะได้ขยายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ แนวปฏิบัติกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานในด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ พร้อมที่จะรับมือและเตรียมการดำเนินคดีกับเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
นายจุมพล กล่าวว่าประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้การครอบครองและการทำให้แพร่กระจายวัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสีเป็นความผิดอันสอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายมีการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายอาญา โดยที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ได้ร่วมมือกับต่างประเทศในการปราบปรามการกระทำผิด โดยให้ความช่วยเหลือประเทศผู้ร้องขอในการตรวจยึดตัวอย่างวัสดุกัมมันตรังสีซึ่งองค์กรอาชญากรรมนำมาจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านซุกซ่อนไว้ในบ้านเช่าหลังหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อจำหน่ายให้แก่นายหน้าของประเทศที่สามและแลกเปลี่ยนกับอาวุธ ทำให้เห็นได้ว่าการลักลอบค้าวัสดุกัมมันตรังสีมีอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นในการปราบปรามดำเนินคดีกับการกระทำผิดตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งร่วมเป็นเจ้าภาพกับ UNODC จัดประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้าวัสดุนิวเคลียร์และการก่อการร้าย.