บูรพา โชติช่วง/รายงาน
การขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 29,000 ปี เทียบได้กับสมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) เก่าแก่ที่สุดในไทย ในถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้สร้างความสนใจให้กับแวดวงโบราณคดี
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลใหม่ที่ช่วยให้เรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลกรมศิลปากร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้มีการพบภาพเขียนสีโบราณเป็นครั้งแรกบริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว จากนั้นปี พ.ศ. 2560 ได้มีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มใหม่ในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ในปี พ.ศ. 2563 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใด โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 7 แหล่ง
ในปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินงานโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน โดยเลือกขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ ผลการขุดค้นพบหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่หลายช่วงเวลา และยังพบโบราณวัตถุประเภทเปลือกหอย กระดูกสัตว์ เมล็ดพืชจำนวนมาก และเมื่อขุดค้นจนถึงระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่จำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุเมื่อตายอยู่ในช่วงประมาณ 6 – 8 ปี (พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว) ซึ่งจากการคัดเลือกตัวอย่างถ่านและเปลือกหอย จำนวน 5 ตัวอย่าง ส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ผลการกำหนดอายุทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นมีอายุเก่าแก่กว่าเนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ 2 เมตร จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป
จากข้อมูลข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าค่าอายุที่ได้แสดงถึงความสืบเนื่องของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยที่ถ้ำดินตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย และกลุ่มคนที่เขียนภาพเขียนสีอาจเป็นคนก่อนประวัติศาสตร์รุ่นหลังสุดที่เข้ามาใช้พื้นที่เมื่อประมาณ 2,000 – 3,000 ปีที่แล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอย่างยาวนานในถ้ำดินนั้นแสดงถึงร่องรอยของกลุ่มคนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยหินเก่า (อายุก่อน 12,000 ปี) สืบเนื่องมาจนถึงกลุ่มโหบินเนียนที่ดำรงชีวิตด้วยการหาพืชป่า ล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร มีการใช้เครื่องมือหิน เครื่องมือกระดูกและไม้มาเป็นอุปกรณ์ในการล่าหรือใช้งาน อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็ก จากชนิดสัตว์และหอยที่พบยังแสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นว่าน่าจะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งหญ้าและหนองน้ำ ที่สัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่จำนวนมาก
สำหรับหลักฐานของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 29,000 ปีนั้น นับเป็นโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ตอนปลาย (125,000 – 11,700 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นช่วงที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นโลกมากกว่าปัจจุบัน ระดับน้ำในทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้บริเวณอ่าวไทยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อถึงอินโดนีเซีย การพบหลักฐานการอยู่อาศัยและการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงยุคดังกล่าวในครั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยอธิบายวิถีการดำรงชีวิตและการปรับตัวของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในอดีตตั้งแต่ช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นจนเข้าสู่ช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูงขึ้น จนกระทั่งบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ที่หลากหลายเช่นในปัจจุบัน
กรมศิลปากรคาดหวังว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้