...รายงานพิเศษ โดยกรวิก อุนะพำนัก...
ปัญหาตลาดนัดสวนจตุจักร เกิดจากเรื่องเงินเป็นสำคัญ เนื่องจาก กทม.ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปีละ 169 ล้านบาท ประกอบกับที่ผ่านมาเกิดวิกฤตโควิด ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของผู้ค้าระส่ำ ไม่มีคนเดินตลาด ส่งผลให้ กทม.จัดเก็บค่าเช่าไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงหัวอกผู้ค้าเช่นกัน จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องจาก รฟท. เร่งรัดให้ กทม.ชำระหนี้ค่าเช่าพื้นที่ ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ กทม.จึงเสนอตลาดนัดสวนจตุจักรให้เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวร่วมด้วย งานนี้ กทม.จึงมีโอกาสบริหารตลาดให้มีรายได้มากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาตลาดและจ่ายค่าเช่าที่ ขณะเดียวต้องชี้แจงและแก้ปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากผู้ค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาในอนาคตด้วย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงที่มาของแนวคิดพัฒนาตลาดนัดจตุจักรว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ กทม.จ่ายค่าเช่าที่ดิน รฟท.ประมาณ 672 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 ถึง 27 มิ.ย. 2565 และ กทม.ต้องจ่ายเงินในอัตราเดือนละประมาณ 14 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 จนกว่าจะมีการลงนามในสัญญา ปัจจุบันยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ กทม.จึงนำตลาดนัดจตุจักรเข้าคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธานฯ โดยผู้ว่าฯชัชชาติ มองว่าตลาดนัดจตุจักรเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์พาวเวอร์ได้ ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น เช่นเรื่องแฟชั่น มวย หนังสือ สามารถนำมาโชว์เคสได้ โดยรัฐบาลได้ตั้งอนุกรรมการฯ ซึ่งมี กทม. กับ รฟท. ร่วมกันพัฒนาตลาดนัดจตุจักร จากการประชุมร่วมกัน ได้แบ่งดำเนินการเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องอนาคตจะศึกษาว่าจะพัฒนาโซนใด อย่างไร ปรับปรุงด้านกายภาพ สายไฟ หลังคา และปัญหาคนไม่เดินโซนชั้นในเดินแต่โซนด้านนอก รวมทั้งหารือแนวทางลงทุนในการพัฒนาฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องที่ กทม.จะเปลี่ยนหนี้เป็นทุน โดย รฟท.ไม่ต้องออกทุนอีก ซึ่งอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน หากสรุปได้ในแนวทางนี้ กทม.จะไม่ได้เป็นคนบริหารจัดการ จะมีบริษัทที่จะมาเช่าทำ โดย กทม.จะเป็นผู้ร่วมลงทุน
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางพัฒนาตลาดนัดสวนจตุจักรในส่วนความรับผิดชอบของ กทม.ว่า จากการหารือคณะซอฟต์พาวเวอร์ฯ ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาคงค้างที่มีอยู่ในตลาดนัดจตุจักร ให้หน่วยงานดำเนินการรับผิดชอบในส่วนของตน ระหว่างนั้น มีการวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ตลาดจตุจักรต่อไปในอนาคต โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การจัดวางแผงค้าในตลาดใหม่ให้ดีขึ้น ทั้งด้านการจัดการและการดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงมีการจ้างหน่วยงานศึกษาแนวทางพัฒนาตลาดฯ ควบคู่ไปด้วย โดยมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่บริเวณหอนาฬิกาให้มีความสวยงาม ดึงดูดผู้คนมากขึ้น คาดว่าจะทำการศึกษาแล้วเสร็จเดือน พ.ค.นี้ และดำเนินการปรับปรุงพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี จากนี้ ดังนั้น กทม.จึงประกาศยกเลิกสิทธิแผงค้าโครงการ 30 (แผงเขียว) ผู้ค้า 529 ราย บริเวณลานหอนาฬิกา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเหลือความกว้างเป็นทางเดินเพียง 9 เมตร จากเดิม 19 เมตร และทำให้ร้านค้ากึ่งถาวรที่เคยมีสภาพตั้งอยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบัง ระบายอากาศไม่ดี มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กทม. จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีความสวยงาม เป็น Landmark ของนักท่องเที่ยวที่มาตลาดนัดจตุจักร ดึงคนให้เข้ามาสู่บริเวณลานหอนาฬิกาให้มากขึ้น โดยต้องสัญจรผ่านแผงค้าตามซอยแยกโครงการต่าง ๆ ที่ทำการค้าไม่ค่อยดี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ค่าที่ไม่มีหนี้ค้างเลือกแผงค้าว่างภายในตลาดนัดสวนจตุจักรที่มีประมาณ 200 แผง โดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม กทม.ยังขยายเวลาให้ผู้ค่าโครงการ 30 จำหน่ายสินค้าได้ถึง 30 เม.ย.นี้
ด้านนายศรชัย โตวานิชกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดนัดจตุจักรมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง มีแผงว่าง 2,028 แผง คิดเป็นร้อยละ 20 โดยเจ้าของแผงค้าเดิมเสียชีวิต อยู่ระหว่างโอนสิทธิ 62 ราย 107 แผง บอกเลิกสัญญาแล้วอยู่ระหว่างส่งฟ้องคดี 152 ราย 275 แผง มีหนังสือบอกเลิกสัญญา 650 ราย 1,353 แผง (ปัจจุบันมีผู้ค้ามาขอต่อสัญญาต่อเนื่อง) ทั้งนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ขายดี เป็นร้านค้าที่อยู่ตามแนวถนนสายหลัก ส่วนร้านค้าด้านในบางโซนคนเดินไม่ถึงทำให้เกิดแผงว่าง สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น กทม.ต้องจัดเก็บค่าเช่าแผงและบริหารจัดการตลาดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำเงินมาพัฒนาตลาดตามแนวทางซอฟต์พาวเวอร์และจ่ายค่าเช่าพื้นที่ รฟท. ปีละ 169 ล้านบาท รวมถึงต้องดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าและหารายได้ให้กับตลาดเพิ่มเติม โดยเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำตลาดนัดกลางคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 24.00 น. ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่นับเป็นที่จอดรถเนื่องจากตลาดก่อสร้างมาก่อนกฎหมายควบคุมอาคาร ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันทางเดินมีความคับแคบเพียง 9 เมตร ไม่สะดวกต่อการสัญจรของประชาชนสำนักงานตลาดจึงมีแนวทางที่จะเข้ามาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ตามแผนเมื่อได้รับพื้นที่คืนจากผู้ค้า
ด้านข้อสังเกตจากผู้ค้า เช่น การออกใบเสร็จค่าแผงค้าด้วยลายมือ การปล่อยเช่าช่วงแผงค้า อาจเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่นั้น นายสุธน สุวรรณภานนท์ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า ยอมรับปัจจุบันยังเขียนใบเสร็จด้วยลายมือหลังจากรับมอบพื้นที่เช่าจาก รฟท. ซึ่งจะมีการเช็กยอดใบเสร็จวันต่อวัน นำส่งสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.กทม.) เป็นผู้นำเข้าธนาคาร แต่ขณะนี้ตลาดนัดจตุจักรไม่รับเงินสดแล้ว ให้ผู้ค้าจ่ายค่าแผงผ่านธนาคารกรุงไทย หรือเครื่องชำระเงิน (EDC) ที่ธนาคารนำมาให้ตลาดฯ ใช้ ส่วนเรื่องการปล่อยเช่าช่วงแผงค้า ยอมรับว่ามี และราคาสูงถึงแผงละ 60,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ สงต.กทม. เก็บค่าเช่าเดือนละ 1,800 บาท พร้อมค่าส่วนกลาง 500 บาท ค่าทำเล 800 บาท ซึ่งการเช่าช่วงแผงค้า เป็นการตกลงกันละหว่างผู้เช่าใหม่กับผู้เช่าเดิมที่เช่าแผงค่าจาก สงต.กทม.อยู่ จากการสอบถามผู้เช่าเดิมอ้างว่าให้ญาติมาเช่าต่อ ซึ่งในอนาคตจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อไป