ตะลึง! “นักโบราณคดี” กรมศิลปากร ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ยุคน้ำแข็ง อายุมากกว่า 29,000 ปี เก่าแก่ที่สุดของไทย ตั้งชื่อ “ปังปอน“ ในถ้ำดิน “อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” กรมอุทยานฯ ยังไม่เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชมไซต์ขุดค้น
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.68 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสี ภายในถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายพนมบุตร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และตื่นเต้นของประเทศไทยที่ได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ อายุกว่า 29,000 ปี เทียบได้กับสมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) เก่าแก่ที่สุดในไทย โดยความสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้น จากการดำเนินการของสำนักศิลปากรที่ 1ราชบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทำการสำรวจเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และในบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ซึ่งสำรวจโถงถ้ำ ตำแหน่งที่เคยมีการพบทั้งภาพเขียนสี บนผนังถ้ำ เมื่อปี 2563 มีอายุราว 2,000-3,000 ปี จึงได้ขุดค้นต่อในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ ซึ่งในบริเวณดังกล่าว ได้มีการสังเกตพื้นดินมีฝุ่นขี้เถ้าไฟ ประกอบกับ พบโบราณวัตถุประเภทขวาน เปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่ามีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมหลายช่วงเวลา
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า เมื่อทำการขุดค้นจนถึงระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ ได้พบเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมากเมื่อ นักโบราณคดี ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน 1 โครง ตั้งชื่อว่าน้องปังปอน เมื่อพิจารณาฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว พบเป็นโครงกระดูกเด็ก ในช่วงอายุประมาณ 6 – 8 ปี โครงกระดูกหันศรีษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอนหงายเหยียดยาว สันนิษฐานว่าเป็นการประกอบพิธีกรรม มีการห่อศพด้วยเส้นใยบางอย่าง และหินทับวางบนโครงกระดูกนี้ในส่วนสำคัญทั้งกะโหลก หน้าอกและดินสีแดง เรียกว่าดินเทพ เชื่อได้ว่า มีพิธีกรรมกับศพนี้ ไม่ใช่การเผา แต่เพื่อป้องกันทำลายของสัตว์ หรือ ดับกลิ่น จากนั้น ได้คัดเลือกตัวอย่างถ่านและเปลือกหอยบริเวณนั้น จำนวน 5 ตัวอย่าง ส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer(AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการกำหนดอายุทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้ มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์ คาดว่า มีอายุเก่าแก่กว่านั้น เนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ 2 เมตร อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาค่าอายุในเชิงลึกเพิ่มเติมต่อไป“หลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอย่างยาวนานในถ้ำดินนั้น แสดงถึงร่องรอยของกลุ่มคนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยหินเก่าอายุก่อน 12,000 ปี สืบเนื่องมาจนถึงกลุ่มโหบินเนียน ที่ดำรงชีวิตด้วยการหาพืชป่า ล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร และที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หลักฐานของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 29,000 ปี นับเป็นโครงกระดูกมนุษย์ มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ตอนปลาย (125,000 – 11,700 ปีที่แล้ว)
“คาดหวังจะมีการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ”อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้เปิดให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมในพื้นที่ดังกล่าว โดยกรมอุทยานจะมีการวางแผนการพัฒนาเส้นทางการขุดค้นเป็นเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติต่อไป