เห็นจะจริงอย่างคำเขาว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ”
เพราะยุงมากัดเราโดยไม่รู้ตัว และก็ทำให้ล้มป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งมีหลายรายด้วยกันที่ถูกภัยจากโรคร้ายที่มาจากยุง หรือมียุงเป็นพาหะ คร่าชีวิตไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ ไข้ซิการ์ และโรคเท้าช้าง
แถมมิหนำซ้ำ เหยื่อที่เจ็บไข้ได้ป่วยและเสียชีวิจจากโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะเหล่านี้ แต่ละปีก็ทวีจำนวนเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ทางการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ต้องมีมาตรการสำหรับกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งต่างก็มีวิธีที่แตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นการพ่นยาฆ่ายุง ประเภทดีดีที การใช้ทรายอะเบทเทลงในแหล่งน้ำที่มีน้ำท่วมขัง หรือภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ภาชนะใส่น้ำกันมดที่ขาตู้อาหาร เพื่อไม่ให้แหล่งน้ำเหล่านั้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมไปถึงการขุดลอกคูคลอง ที่ยุงร้ายเหล่านั้น ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เป็นต้น
ทว่า สำหรับที่ “หมู่บ้านแอดดิชันฮิลส์” ในเมืองมันดาลูยอง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของชานกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ได้ผุดมาตรการในการปราบยุง ที่แปลกแหวกแนวอย่างไม่มีใครเหมือน และก็ไม่เหมือนใคร
นั่นคือ “การตั้งค่าหัวยุง” ด้วยการให้รางวัลแก่ผู้ที่จับยุงได้ ไม่ว่าจะ “จับเป็น” หรือ “จับตาย” หรือแม้กระทั่ง “ตัวอ่อนของยุง” และ “ไข่ยุง” หากจับมันมาได้ เป็นต้องได้ “เงินรางวัล” ติดไม้ ติดมือ กลับบ้านไป ซึ่งมาตรการที่ว่า เป็นไอเดียบรรเจิดของ “นายคาร์ลิโต เซอร์นัล” ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “ผู้นำชุมชนแอดดิชันฮิลส์”
เหตุปัจจัยที่ทำให้นายเซอร์นัล ผุดมาตรการดังกล่าวขึ้นมา หลังเกิดการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่กำลังอาละวาดชุมชนแอดดิชันฮิลส์อย่างหนักในปีนี้ นั่นเอง
โดยปี 2025 (พ.ศ. 2568) เพิ่งผ่านมาได้ไม่พ้นสองเดือนด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่า มีชาวชุมชนต้องล้มป่วยด้วยไข้เลือดออกไปแล้วถึง 44 ราย ในจำนวนนี้ก็เสียชีวิตไป 2 ราย เป็นเด็กนักเรียน ซึ่งในชุมชนแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยราวกว่า 100,000 คน ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่า แม้ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ตามตึกคอนโดฯสูงๆ แต่ก็ยังไข้เลือดออกพิษร้ายจากยุงลายเล่นงานจนน่าเป็นห่วง
ส่วนการแพร่ระบาดของไข้เลือดในพื้นที่ต่างๆ โดยรวมของฟิลิปปินส์ในปีนี้ ตามตัวเลขทางการ “กระทรวงสาธารณสุข” เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า ล้มป่วยไปแล้วถึง 28,234 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันนี้ของเมื่อปีที่แล้ว คือ 2024 (พ.ศ. 2567) ถึงร้อยละ 40
ทั้งนี้ ในบางเขตเมือง เช่น เมืองเคซอน ปรากฏว่า ทางการท้องถิ่น ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวิกฤติการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เลยทีเดียว หลังพบผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนมากถึง 1,769 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 10 ราย ด้วยกัน
กล่าวถึงเมืองเคซอนแห่งนี้ ก่อนหน้านั้น ทางการได้เคยพิจารณามาตรการ “ปล่อยกบ” เพื่อให้ไปกินยุง หวังช่วยลดประชากรยุง ที่ชุมเสียยิ่งกว่าอะไร ในเมืองดังกล่าวมาแล้วอีกด้วย
สำหรับ มาตรการตั้งค่าหัวยุง ในสงครามต่อต้านการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในชุมชนแอดดิชันฮิลส์นั้น ก็กำหนดให้ผู้ที่นำตัวยุง ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่ หรือว่าตายไปแล้ว มามอบให้แก่ทางการของทางชุมชนฯ ก็จะได้รับเงินเป็นรางวัลทันที โดยกำหนดเงินรางวัล 1 เปโซต่อยุง 5 ตัว ซึ่งถ้าเทียบเป็นเงินไทย ก็ประมาณ 0.58 สตางค์
นอกจากยุงที่เป็นตัวๆ ไม่ว่าจะมีชีวิต หรือตายไปแล้ว แม้กระทั่งตัวอ่อนของยุง หรือไข่ของยุง ก็จะได้เงินรางวัลเป็นค่าหัวนี้ด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า มีชาวชุมชน ซึ่งสวมบทกลายเป็น “นักล่ายุง” จำนวนหลายสิบคน พากันเดินทางมายังสำนักงานของหมู่บ้านชุมชนแอดดิชันฮิลล์กันทุกวัน เพื่อมารับค่าหัวยุง ได้เงินกลับบ้านไปหลายเปโซ ซึ่งก็พอได้ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน
ยกตัวอย่างในรายของนายมิเกล ลาบัค อายุ 64 ปี นำยุงลายจำนวน 45 ตัว มายังสำนักงานของหมู่บ้านฯ เพื่อแลกเป็นเงินรางวัล ก็ได้ไป 9 เปโซ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 5 บาท ซึ่งนายลาบัค กล่าวอย่างมีรอยยิ้มว่า วันนี้ได้ค่ากาแฟแล้วหล่ะ
อย่างไรก็ดี แม้โครงการตั้งค่าหัวยุง เพื่อทำสงครามปราบยุง ได้รับเสียงชื่นชมจากทางการอยู่ไม่น้อย แต่ทว่า ก็มีข้อติติงจากประชาชนหลายภาคส่วนอยู่เหมือนกัน โดยเป็นข้อติติงในลักษณะกล่าวเตือนกันว่า โครงการที่ว่าอาจจะยิ่งทำให้ยุงชุมกว่าเก่าก็เป็นได้ จากการที่มีคนหวังได้เงินรางวัลมากๆ แล้วถึงขั้นเพาะเลี้ยงยุงขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่ทำน้ำให้ขังไว้ ก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แล้วนำยุงมารับเงินรางวัล โดยหากมีคนทำเช่นนั้นหลายๆคน ก็ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของไข้เลือดออกจากยุงเป็นพาหะในชุมชนเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกจนน่าเป็นห่วง