วันที่ 24 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายอาสา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กล่าวความคืบหน้าการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป และประชาชนในพื้นที่ทั้ง 50 เขตแล้ว ปัจจุบัน สวพ.ได้นำข้อคิดเห็นที่ได้รับเข้าคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุดแรก คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ชุดที่สอง คณะกรรมการกรมโยธาธิการและผังเมือง และชุดที่สาม คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากข้อคิดเห็นและเสนอแนะมีจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ประชาชนท้วงติงจะมีการพิจารณาโดยละเอียด
สำหรับข้อคิดเห็นดังกล่าว มาจากขั้นตอนการเปิดรับความเห็นจากประชาชนทั่วไปในวงกว้างทุกสาขาอาชีพ โดยความเห็นส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เรื่องการก่อสร้างถนน เช่น ถนน ก (กว้าง12ม.) และ ข (กว้าง16) ตามแนวคิดเดิมมีทั้งการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างถนนใหม่ และขยายถนนเดิมที่มีอยู่ เช่น การขยายจุดคอขวดให้มีขนาดตามผังเมืองกำหนด แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแนวคิดเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนนเดิมแล้ว เปลี่ยนเป็นการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทดแทน ในการกำหนดระยะถอยร่นกรณีก่อสร้างอาคารใหม่ในอนาคต เพื่อเว้นระยะไว้สำหรับขยายถนน ส่วนแนวทางสร้างถนนใหม่ยังมีอยู่ตามแผนเดิม แต่จะพิจารณาในแต่ละพื้นที่โดยละเอียดตามความต้องการของประชาชน ส่วนใหญ่ผู้อาศัยแถบชานเมืองต้องการให้สร้าง ส่วนผู้อาศัยในเมืองไม่ต้องการให้สร้าง
นายอาสา กล่าวว่า ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ในการกำหนดระยะถอยร่นกรณีก่อสร้างอาคารใหม่ในอนาคต เพื่อเว้นระยะไว้สำหรับขยายถนนให้ได้มาตรฐาน อาจต้องใช้ระยะเวลา 20-30 ปี จึงจะมีการก่อสร้างถนนได้ เป็นแผนอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือมีความเปลี่ยนแปลงในทันที ทั้งนี้ แผนก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นไปเพื่อเชื่อมต่อการสัญจรต่าง ๆ เช่น รถไฟฟ้า การเชื่อมถนนสองสาย และเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ประกอบกับหลายจุดประชาชนต้องการให้สร้างทางเท้าเพื่อความปลอดภัย จึงต้องพิจารณาและทำความเข้าใจในแต่ละจุดที่ได้รับข้อคิดเห็น ยึดความต้องการของประชาชนกรุงเทพฯ เป็นหลัก
ส่วนขั้นตอนต่อไป หลังจาก 3 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จ และไม่มีประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม สวพ.จะปิดประกาศ 90 วัน เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบใหม่ ซึ่งเป็นรอบสำหรับเจ้าของที่ดิน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเท่านั้น โดยเปิดโอกาสให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเดิมที่มีการแก้ไขไปแล้ว ไม่สามารถเปิดประเด็นใหม่ได้ ยกเว้นประเด็นสาธารณะเท่านั้น ทำให้ประเด็นการแก้ไขข้อร้องเรียนต่าง ๆ ลดน้อยลง สามารถแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อดำเนินการขั้นต่อไป
สำหรับการจัดทำผังเมืองรวมตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 18 ขั้นตอน ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานครได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม 2.จัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านกายภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3.วางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 4.คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม 5.ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน 6.ประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม 7.คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
8.กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อร่าง ผังเมืองรวม 9.คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดให้ความเห็นชอบต่อร่างผังเมืองรวม 10.ปิดประกาศ 90 วัน และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถ ยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดของผังเมืองรวม 11.รวบรวมคำร้อง และจัดทำความเห็นประกอบคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 12.คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 13.คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 14.กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 15.คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดแจ้งผลการพิจารณาคำร้องให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ 16.แก้ไขปรับปรุงร่างผังเมืองรวมตามมติคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด 17.ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวม 18.ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา