วันที่ 23 ก.พ.68 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,141 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ 2568  พบว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าสภาพเศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ส่งผลกระทบทำให้ใช้จ่ายเดือนชนเดือน ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ร้อยละ. 51.01 โดยคิดว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด คือ เรื่องค่าครองชีพสูง คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อในประเทศไม่ขยายตัว ร้อยละ 82.94 

ทั้งนี้ เห็นว่ามาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 69.50 โดยนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาลควรเข้ามาเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน ร้อยละ 76.58 เมื่อถามว่าหากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างมองว่าเศรษฐกิจน่าจะเหมือนเดิม ร้อยละ 41.63 สุดท้ายเมื่อคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2568 นี้ ร้อยละ 46.01 มองว่าก็น่าจะเหมือนเดิมเช่นกัน

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เป็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า แม้รัฐบาลพยายามเร่งอัดฉีดเงินหมื่นเข้าไปกระตุ้น แต่ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้า นี่คือความท้าทายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อจากความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ วันนี้ต้องเร่งคืนความเชื่อมั่นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งภายในและปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกอนงค์ ศรีสำอางค์ ประธานหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า ประชาชนมองว่ามาตรการของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ควรเร่งปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจ และคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ถูกคาดหวังให้ช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน นอกจากนี้การที่ประชาชนคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะคงที่หรือแย่ลง แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท ออกมาก็ตาม รัฐบาลควรปรับมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพและช่วยลดภาระหนี้สินของประชาชน กระตุ้นการลงทุนโดยการลดต้นทุนการผลิตและสร้างความมั่นคงในระบบการเงิน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การเพิ่มความโปร่งใสและมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจอย่างจริงจังและจริงใจ