วันที่ 23 ก.พ.68 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 7 เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2568) ระบุว่า...

ในช่วงวันที่ 23-25 ก.พ. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งระมัดระวังรักษาสุขภาพช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันดังกล่าว

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568

ภาคใต้ : จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา และกระบี่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568

ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (23 ก.พ. 68) ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่งในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง

สภาวะอากาศที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละอองในระยะนี้: การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันบริเวณประเทศไทยตอนบนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างมาก   โดยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น และมีฝนเพิ่มในบางพื้นที่

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

อากาศเย็นในตอนเช้า และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา กำแพงเพชร และตาก
อุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส   
บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศเย็นในตอนเช้า 
โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส 
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส 
บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศร้อนในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ส่วนมากบริเวณจังหวัดอุทัยธานี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส  
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก 
ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. 
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร 
บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และกระบี่
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. 
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร 
บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร 

กรุงเทพและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน 
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส 
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.