“พิพัฒน์” หนุน ไอซ์ รักชนก ตรวจสอบประกันสังคม ชี้เป็นนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนถึงมือป.ปงช. ทำติดคุกหัวโต ลั่นหน่วยงานต้องพร้อมแจงทุกวินาที แต่ขอเลื่อนเวลา เหตุติดงานต่างประเทศ
วันนี้ ( 21 ก.พ.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน เชิญไปชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมที่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม คุ้มค่า ว่า ตนตอบไปแล้วว่า ตนพร้อมปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะชี้แจงและตอบทุกคำถาม เพราะเชื่อว่าผู้ประกันตนทั้ง 26 ล้านคนโดยประมาณ อยากจะฟังรายละเอียดว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการเรื่องใดบ้าง ประกันสังคมมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิประโยชน์แต่ละเรื่องประกันสังคมดำเนินการอะไรแล้ว ที่มีฝ่ายนิติบัญญัติถามมาจะพยายามตอบในทุกคำถาม ว่าสิ่งที่ไปสามารถนำยืนยันและตอบได้ว่าพวกราไปทำอะไรบ้าง ไม่ได้ไปเที่ยว อย่างไรก็ตาม ขอให้เลื่อนเวลาไปเป็นสัปดาห์อื่นได้หรือไม่ เนื่องจากวันที่เชิญมานั้น ตนมีกำหนดการเดินทางไปที่ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อหารือร่วมกับรัฐมนตรีแรงงาน เรื่องการส่งแรงงานไทยไปทำงาน ซึ่งได้กำหนดเอาไว้นานแล้ว แต่หากไม่เลื่อนวันที่จะให้ตนชี้แจงได้ ก็คงต้องส่งผู้แทนไปชี้แจงแทน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการทำประชาพิจารณ์ว่าจะทำปฏิทินต่อหรือไม่นั้น ได้มีการทบทวน ก่อนที่สส.จะตั้งคำถาม ว่าผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ยังมีความต้องการปฏิทินหรือไม่ หรือต้องการแบบใด ซึ่งปกติมีความต้องการประมาณ 4.1 ล้านฉบับ เป็นแบบแขวน 3.7 ล้านฉบับ และตั้งโต๊ะ 4 แสนฉบับ อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างบางส่วน ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่อยู่พื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต เน็ตช้า ดังนั้นปฏิทินที่มีรายละเอียดเรื่องสิทธิประโยชน์ก็ยังจำเป็น แต่หากผลสำรวจออกมาว่าไม่อยากได้ปฏิทิน ก็จะยกเลิกการทำในปี 2570
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองไม่ควรมายุ่งในการบริหารกองทุนประกันสังคม นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ท่านปลัดฯ ให้สัมภาษณ์ ซึ่งตนไม่กล้าก้าวล่วงความคิด ความรู้สึกของปลัด แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสมดุล มีฝ่ายบริหาร ต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่ดี แต่ท่านปลัดอาจไม่คิดไปถึงว่า การเมืองในที่นี้คือนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่สอบถาม ซักฟอก หรือตรวจสอบงบฯ แต่ละหน่วยงาน เชื่อว่าการที่ถูกตรวจสอบจะทำให้เกิดความสมดุล การใช้งบประมาณต่างๆ มีความโปร่งใสขนาดไหน โดยเฉพาะประกันสังคมอยู่กับคน 26 ล้านคน ที่เติมเงินเข้ามาให้กับกองทุนฯ จึงต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบทุกวินาที ดังนั้นถ้าถามตนเห็นว่า ถูกต้องแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาต้องตรวจสอบ
เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการบอร์ดแพทย์จะหมดวาระในเดือนก.พ.นี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องทาบทามโดยประกันสังคม ขณะที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าส่งมาแล้วน่าจะ 2-3 คน อยางไรก็ตามเราต้องการคนที่มาจากหลากหลาย แต่ก็ควรเป็นแพทย์ด้วย เพราะถ้าไม่ใช่แพทย์จะคุยกันไม่รู้เรื่องในเรื่องแพทย์ โดยต้องพูดถึงเงื่อนไข บอร์ดแพทย์มีหน้าที่ทำอะไร ประกันสังคมก็เสนอเลยว่าอยากได้อะไร กระทรวงอยากได้อะไร จากหลายๆ ฝ่าย แล้วไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่เดินไปแล้วประกันสังคมก้าวหน้าดึงกระชากขาหลังทีนึง หรืออีกฝ่ายมากระชากทีหนึ่ง อย่างนี้เดินไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ในช่วงที่ตนเข้ามาก็มีบอร์ดแพทย์อยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้ไปเปลี่ยน แต่วันนี้ 27 ก.พ.2568 จะหมดวาระ ถ้าหลังจากนี้มีความผิดพลาดตนรับผิดชอบได้ แต่ส่วนก่อนหน้านี้ ตนไม่รับผิดชอบความผิดพลาด เพราะเขามาอยู่ก่อน
“ก่อนที่ผมจะเซ็นตั้งบอร์ดแพทย์ ประกันสังคม ต้องคุยกันให้จบ ถ้ามีอะไรเดินหน้าด้วยกัน ผิดรับด้วยกัน ชอบพวกคุณรับไปเลย ผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตอนพวกคุณประชุมผมก็ไม่มีสิทธิเข้าไปนั่งร่วมประชุม ผมแค่สามารถเรียกมาคุยนอกรอบว่านโยบายต้องการแบบนี้ รับได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ผ่าน รับไม่ได้ก็หยุด นำเหตุผลมาคุยกัน แต่ตัดสินใจในบอร์ดไม่มีสิทธิสำหรับตัวผม” นายพิพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีบอร์ดแพทย์ที่กำลังจะหมดวาระแล้ว แต่ทิ้งทวนไปดูงานที่อิตาลี นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นคนอนุมัติ ไม่แน่ใจว่าทิ้งทวนหรือไม่ ถ้าทิ้งทวนก็เป็นความรับผิดชอบของประกันสังคม ส่วนกรณีที่จะหมดวาระแล้วไปต่างประเทศจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่ามีงานค้างหรือไม่ ถ้ามีงานที่ค้าง การที่จะไปดูก็คิดว่าเหมาะสม ตนก็ไม่ได้อยากไปพาดพิงองค์กรอื่นๆ ที่ผ่านมา เมื่อใกล้หมดวาระก็ถือโอกาส ทำอะไรตนไม่รู้ ไม่ได้พูดต่อ
“ทุกบอร์ดของกระทรวงแรงงาน คนที่เป็นประธาน คือปลัดกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีไม่มี ที่จะเรียกประชุมอะไรก็น่าจะเป็นเรื่องของประธานบอร์ด แต่ผมจะให้นโยบาย” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบย้อนหลัง แต่คงต้องมีการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง ว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ไม่ใช่ยุคตน ยุคตนก็ต้องตรวจสอบตัวเอง เมื่อไม่ใช่ยุคตนก็ต้องหากรรมการที่เป็นกลางมาเป็นคนมาหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปตรวจสอบเพื่อจับผิดเขา
เมื่อถามว่า เห็นน.ส.รักชนกพูดชมรมว.แรงงานหลายครั้ง จากการพูดคุยกัน ถือว่าเขามีความเข้าใจงานของประกันสังคมเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า คิดว่าต่างคนต่างเข้าใจกันและกัน เขาก็อยู่ในบริบทของเขาในฝ่ายนิบัญญัติ ตนอยู่ในฝ่ายบริหาร การที่นิติบัญญัติมาตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นเรื่องปกติ แล้วใครจะมาตรวจสอบ หรือรออีกทีหนึ่งคือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบ ตอนนั้นก็เอาไปติดคุกแล้ว ดังนั้นการที่นิติบัญญัติมาตรวจสอบดีแล้วจะได้รู้ว่าอะไรที่ล้ำเส้น อะไรที่ยังอยู่ในกรอบ นี่คือการถ่วงสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
มีข้อวิพาก์วิจารณ์เรื่องนี้เป็นกระแสขึ้นมา เพื่อเอามาต่อรองนำคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในบอร์ด นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ไม่มี เราจบเรื่องของบอร์ดแพทย์ก่อนที่ท่านส.ส.ไอซ์มานำเสนอด้วยซ้ำ เพราะตนและกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า มีการคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดเวลา เพราะเขามีกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง 6 คน ฝ่ายนายจ้าง 2 คน รวม 8 คนใน 14 คน เขาถือสัดส่วนเกินครึ่ง เพราะฉะนั้น มีอะไรก็จะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
“ที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง 7 คน ฝ่ายนายจ้าง 7 คน ภาครัฐ 7 คน เป็นผู้สแตมป์ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ หรืออื่นๆ เป็นเรื่องของบอร์ด รัฐมนตรีไม่มีอำนาจ แต่บอร์ดอนุฯ บอร์ดแพทย์ ผมเป็นผู้ลงนามตั้งกรรมการแต่ละคน แต่บอร์ดประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง ผมได้เฉพาะบอร์ดชุดเล็ก ชุดใหญ่ไม่มีความสามารถ แต่จะทำอะไรก็ต้องหารือบอร์ดชุดใหญ่ด้วย เพราะต้องการการทำงานที่เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ผมเดินหน้าคุณดึง คุณเดินหน้าผมกระตุก ก็ไปไม่ได้ ประกันสังคมก็หยุดอยู่กับที่หรือถอยหลัง ซึ่งเงินไม่ใช่ของผม เงินเป็นของผู้ประกันตนทุกคน ต้องพยายามให้บอร์ดอนุมัติในสิ่งที่พวกเราอยากกระทำ อยากเอาเงินของประกันสังคมไปสร้างให้เกิดดอกผลมากที่สุด เพื่อที่อีก 30 ปีข้างหน้าไม่ล้มละลาย”นายพิพัฒน์ กล่าว
///////////////