นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้รากปัญหา “กองทุนประกันสังคม” เกิดจากถูกระบบราชการครอบไว้ นโยบายจึงไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน เสนอทางออก ต้องแยก สปส. ออกจากกระทรวงแรงงาน ให้มีความอิสระเช่นเดียวกับ สปสช. ที่บริหารกองทุนบัตรทอง


ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงข้อเสนอในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ตอนหนึ่งว่า กองทุนประกันสังคมที่บริหารจัดการโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ส่วนตัวเสนอว่าเพื่อความโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ประกันตน ควรแยก สปส. ออกมาให้มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ 

ทั้งนี้ อาจจัดตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานเฉพาะที่มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่แยกบทบาทการบริหารจัดการและงบประมาณออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

ผศ.ดร.ธร กล่าวว่า สปสช. ซึ่งที่ทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ 30 บาท) เป็นหน่วยงานที่แยกส่วนการทำงานออกมาจาก สธ. โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้รับบริการ-ผู้ซื้อบริการ ซึ่งจะทำให้ สปสช. มีความชัดเจน และมีอิสระจากการควบคุมของระบบราชการ สปสช.ที่บริหารในรูปแบบคณะกรรมการ (บอร์ด) จึงสามารถจัดบริการทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้ง่ายและคล่องตัว และยังใช้งบประมาณต่อหัวของประชากรเป็นจำนวนไม่มากนัก

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคตคือการเพิ่มสัดส่วนและดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความยั่งยืน ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตน แต่แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก สปส. ยังมีโครงสร้างของระบบราชการคอยกำกับไว้

“รากของปัญหาในท้ายที่สุดแล้ว คือการที่ประกันสังคมถูกระบบระเบียบราชการครอบไว้อีกขั้นหนึ่ง มันจึงทำให้มีอิสระในการตอบโจทย์ผู้ประกันตนได้ไม่ชัดเจนและไม่เกิดบทบาทอย่างที่กองทุนนี้ควรจะเป็น” ผศ.ดร.ธร กล่าว 

เมื่อถามถึงข้อเสนอโอนย้ายการจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนจาก สปส. ให้ สปสช. ดูแลแทน โดยให้ สปส. ทำเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ผศ.ดร.ธร กล่าวว่า ข้อเสนอนี้อาจจะทำให้ผู้ประกันตนไม่อยากจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีกต่อไป ส่วนตัวเห็นว่า หากปฏิรูปให้ สปส. สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดดอกผล ผลประโยชน์ ขึ้นอีกมากมายในอนาคต โดยประกันสังคมจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศในเรื่องรายจ่ายสวัสดิการจากภาษี ช่วยแบกรับและอุดช่องโหว่ความขาดแคลนการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน จึงเห็นว่า ประกันสังคมควรบริการจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วยตนเองต่อไป ทว่าจะต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัว จนก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่อไป
 /////