“นายกตุ้ย” ดร.เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ “คนท้องถิ่นตัวจริงกลับมาแล้ว!” เปิดอก สะท้อนปัญหาท้องถิ่นถึง “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จริงใจในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชี้ยกเลิกคำสั่ง 8/2560 และงบแฝง จัดเงินอุดหนุนเต็ม 35 %  เชื่อประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ท้องถิ่นก้าวหน้า ชาติเจริญ ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล

ดร.เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง “นายกตุ้ย” นายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการกลับมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือนายก ทต.ยางตลาด ครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 โดยครั้งหลังสุดเมื่อปี 2559  ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  เคยร่วมกันต่อสู้ เรียกร้อง เพื่อสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ของท้องถิ่นกับรัฐบาล และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยในหลายๆประเด็น โดยเฉพาะงบประมาณอุดหนุน และการขออำนาจเต็มในการกระจายอำนาจจากรัฐบาล

จากวันนี้ถึงวันนี้ สถานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับนิยามของการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จะมีก็ในส่วนของการบริหารจัดการที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น การบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความปลอดภัยภายในชุมชน มีการนำระบบออนไลน์มาใช้เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ทันต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ในการกลับมาทำหน้าที่นายก ทต.ยางตลาดของตนในครั้งนี้ คงไม่ได้จำกัดความเพียงเป็นนายก ทต.ยางตลาดเท่านั้น ยังจะรวมไปถึงการมีส่วนขับเคลื่อน และเป็นอีกพลังเสียงหนึ่ง ในการสะท้อนปัญหาของท้องถิ่นทั่วประเทศไปถึงรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“เพราะสิ่งที่เห็น เป็น อยู่ เหมือนรัฐบาลยังไม่มีความจริงใจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น งบประมาณยังกระจุกตัวที่ส่วนกลาง การขอรับงบประมาณสนับสนุนขึ้นตรงกับสำนักงบประมาณ ที่กว่าจะได้มาช่างยากเย็นแสนเข็ญ ไม่เป็นไปตามที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ประกาศเมื่อปี 2540 ว่าภายในปี 2549 ต้องจัดงบประมาณอุดหนุนให้ท้องถิ่น 35%  แต่ความจริง ปัจจุบันได้มาแค่ 29% ผ่านมา 27 ปีแล้วยังได้แค่นี้  ยังได้ไม่เต็มที่ ไม่มีบวกเพิ่ม แถมยังต้องรับผิดชอบ “งบแฝง” คือนมโรงเรียน และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการอีกด้วย”

นายกตุ้ย กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการกระจายอำนาจ เพื่อให้การบริหารราชการท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ รัฐบาลเปรียบเหมือนยอดพีระมิด ต้องกระจายอำนาจลงมาที่ฐาน เพื่อความเป็นปึกแผ่น มั่นคง ท้องถิ่นทุกแห่งมีโครงการ มีแผนงาน แต่งบประมาณไม่เพียงพอ การพัฒนาก็เดินยาก อย่าง ทต.ยางตลาด 10 ชุมชน ตั้งธงในการพัฒนาทุกด้านปีละ 80-100 ล้านบาท  เหลืองบในมือจริงๆเพียง 5 ล้านบาท ก็ทำอะไรไม่ได้

“ยิ่งมาเจอคำสั่งที่ 8/2560 สมัยรัฐบาล คสช. ที่มีสาระสำคัญคือการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ก็ยิ่งเป็นการตีกรอบของการกระจายอำนาจท้องถิ่นแคบลงกว่าเดิมอีก ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงเห็นว่า 7 ปีเป็นช่วงของการล้มเหลวของท้องถิ่น  การสอบ การบรรจุ ข้าราชการท้องถิ่น ต้องไปสอบที่ส่วนกลาง เอาคนจากที่อื่นมาทำงานท้องถิ่น เหมือนคนเอาคนที่ไม่ตรงกับงานมาทำงาน การยุบหลายหน่วยงาน แต่กลับผุดหน่วยงานใหม่ๆขึ้นมา เพื่อเอื้อพวกพ้องวงศ์วานรัฐมนตรีต่างๆ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี ปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นเรื่องซ้ำซ้อน ไม่ประสบความสำเร็จ ตามอย่างที่เห็นๆกัน แต่หากจะถ่ายเทอำนาจส่วนนั้นมาลงท้องถิ่น เชื่อได้ว่าผลที่ออกมาจะไม่เป็นอย่างนั้น จะดีและดีมากๆ คุ้มค่างบประมาณและพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า”

“ดูอย่างอารยประเทศที่เขาเจริญ บางประเทศเค้าไม่มีผู้ว่าฯ  แต่มี ส.ส. มีนายกเทศมนตรีเหมือนบ้านเรา เวลาประชาชนมีปัญหา ได้รับความเดือดร้อน ผู้บริหารระดับสูงเขาไม่ได้ถาม ส.ส. เขาจะถามนายกเทศมนตรี เพื่อให้นายกเทศมนตรีเป็นผู้แก้ไขปัญหา เพราะนายกเทศมนตรีอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน สามารถแก้ปัญหาหาได้ถูกจุด ทันทีทันใด หรืออย่างงบแฝง เช่น นมโรงเรียน ควรที่จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ ควรที่จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่กลับยังอยู่ในสัดส่วนของ 29% นี้”

ในท่ามกลางการบริหารจัดการ ที่งบประมาณมีอยู่อย่างจำกัดดังกล่าว จึงขอเป็นกระบอกเสียงท้องถิ่นสะท้อนปัญหาถึงนายกฯอุ๊งอิ๊งและรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งที่ 8/2560  เป็นอันดับแรก เพื่อแสดงความจริงในการแก้ไขปัญหาประเทศ และปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากทำได้ถือเป็นการมอบของขวัญล้ำค่า ชิ้นใหญ่ ให้กับท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ เพราะนั่นคือการปลดล็อกการกระจายอำนาจที่แท้จริง พร้อมๆกับเปิดประตูสู่ความสุขของพี่น้องประชาชน ท้องถิ่นมุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจดีขึ้น ประเทศชาติเจริญเดินหน้า ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล

“สำหรับตน การกลับมาทำหน้าที่นายก ทต.ยางตลาดครั้งนี้ เพื่อคืนความสุขทุกๆด้านให้กับพี่น้องประชาชน ที่สำคัญคือปราบปรามยาเสพติด, ติดกล้องซีซีทีวี ป้องกันเหตุร้าย ตามจุดเสี่ยง ถนนหนทาง ศูนย์ราชการ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, พัฒนาขีดความสามารถ อปพร. ให้มีศักยภาพ ทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ ได้อย่างเข้มแข็ง มีการจัดเวรยาม รถสายตรวจออกตรวจตรา เพื่อความอบอุ่นให้กับชุมชน, ส่งเสริมการกีฬา สร้างเสริมสุขภาพ กาย สุขภาพใจ ห่างไกลยาเสพติด และร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมอาชีพเสริมและอาชีพหลัก ให้กับผู้ว่างงาน ผู้บำบัดยาเสพติด เพื่อมีอาชีพ มีรายได้ คืนคนดีกลับสู่สังคมอย่างมีความสุข” นายกตุ้ย กล่าว

ปัจจุบันการบริหารจัดการในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ยังอยู่ในวังวนเดิม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางยังลงมาไม่ถึงท้องถิ่นเต็มที่ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏสามารถจำแนกเป็น 4 ประเด็นหลักคือ 1. ปัญหาเรื่องงบประมาณ, 2.ปัญหาเรื่องบุคลากร, 3.ปัญหาเรื่องกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ และ 4.ปัญหาเรื่องสวัสดิการและขวัญกำลังใจ

ดร.เกรียงไกร อธิบายว่า ปัญหาด้านงบประมาณนั้น เนื่องจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงทันความต้องการของประชาชน จึงอยากเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนงบประมาณที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ท้องถิ่นเป็นไม่น้อยกว่า 35% (ตามรัฐธรรมนูญปี 2540) ยกเลิกและคืนภารกิจที่เป็น “งบแฝง” ของกระทรวงศึกษาฯและกระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ เช่น ภารกิจจัดการนมโรงเรียน อาหารกลางวัน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ค่าตอบแทนของ อสม.ฯลฯ ออกจากสัดส่วนของท้องถิ่น   แต่ให้คงงบประมาณส่วนนี้คงไว้เพื่อใช้พัฒนาตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น และปัญหาการสร้างกฎเกณฑ์ขั้นตอนเกินจำเป็นในการเข้าถึงกองทุน กสท. และหรือสถาบันการเงินต่างๆเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น

“ส่วนปัญหาเรื่องบุคลากรนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 จำกัดสิทธิการสรรหาพนักงานโดยตรง แม้ส่วนกลางจัดสอบก็มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน จึงขอเสนอให้กระทรวงมหาดไทยควรเร่งรัดออก พรบ.ยกเลิกคำสั่งของ คสช.ที่ 8/2560 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสรรหาบุคลากรในพื้นที่ได้เอง ปรับหลักเกณฑ์ให้พนักงานจ้างภารกิจพนักงานจ้างทั่วไปบางประเภท สามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพนักงานหรือข้าราชการในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและขวัญกำลังใจให้คนในพื้นที่ได้พัฒนาบ้านเกิด ขณะที่ปัญหาเรื่องกฎหมายระเบียบและข้อบังคับปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการดำเนินงานที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้ให้ข้อเสนอกระทรวงมหาดไทยควรปรับปรุงระเบียบ เช่น กฎหมาย 2 วาระของนายกท้องถิ่น การขออนุญาตเดินทางไปราชการ และระเบียบการจัดทำแผนงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งออกระเบียบกฎหมายให้ท้องถิ่นทำการพาณิชย์หารายได้เองได้”

ดร.เกรียงไกร อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาเรื่องสวัสดิการและขวัญกำลังใจ หรือค่าตอบแทนของผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ไม่ได้รับการปรับปรุงมานานกว่า 20 ปี ไม่มีเงินบำนาญที่เหมาะสมสำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น การพิจารณาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากประชาชน ทั้งนี้ ขอเสนอปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการของผู้บริหารท้องถิ่นให้เหมาะสม ใช้เกณฑ์คะแนนประเมิน ITA และ LPA เป็นตัวชี้วัดในการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม นำหลักการเงินบำนาญของ ส.ส. และ ส.ว. มาเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย

“สรุปภาพรวม ข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและจริงใจ ถ้าทำได้ครบตามข้อเสนอแนะ มั่นใจว่า เศรษฐกิจโตขึ้น ท้องถิ่นก้าวหน้า ประเทศชาติเจริญกว่าที่ผ่านมา” ดร.เกรียงไกร กล่าว