กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้ผลิตสื่อสารคดี ภายใต้นิยาม TMF DOCUMENTARY FILMMAKER 2024 “สร้างคนสารคดี สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ” ที่ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อสารคดีทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความจริงของการผลิตสื่อสารคดีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย

โครงการจัดทำหลักสูตรและอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้ผลิตสื่อสารคดี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดขึ้นเพื่อสร้างแนวคิดในการส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อสารคดีรุ่นใหม่ให้มีทักษะความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเป็นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ของตนเองและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้รับชมได้อย่างแท้จริง

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวว่า นอกจากการให้ความสำคัญกับสื่อวิทยุ สิ่งพิมพ์ ละครสั้น และการ์ตูนแล้ว กองทุนพัฒนาสื่อฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญของสื่อสารคดี  โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และทุนการผลิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อสารคดีรุ่นใหม่ โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และให้โอกาสแก่เยาวชนในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ

ด้าน นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย กองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าวถึงการอบรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารคดี โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะและเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสารคดีที่มีคุณภาพและส่งผลกระทบต่อสังคม กองทุนพัฒนาสื่อฯ เชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 หนึ่งในไฮไลท์ของการอบรมคือการเสวนาของ สตีฟ  แซนด์ฟอร์ด  และพัชรา แซนด์ฟอร์ด สองผู้ก่อตั้ง สำนักข่าว Asia Report  ในปี ค.ศ 2020-2022 เป็นที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมให้กับซีรีส์เรื่อง Thai Cave Rescue ผลิตสารคดีเรื่อง White Light Studio และสารคดีเรื่อง 2050 Production Company บน Netflix  ปี ค.ศ 2022-2023 และเป็นผู้อำนวยการสร้างภาคสนาม สถานีโทรทัศน์ Blast Films ผู้สื่อข่าว Nippon TV ประเทศญี่ปุ่น โทรทัศน์สวีเดน ประเทศสวีเดน นักข่าวหนังสือพิมพ์ Helsingin Sanomat ประเทศฟินแลนด์  ประสบการณ์การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ในประเด็น Fortify Rights องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรีแห่งสหประชาชาติในกรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO องค์กรด้านการค้าแรงงานและสิทธิมนุษยชน และโครงการ Outlaw Ocean โดย Lan Urbina ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งได้นำเสนอสารคดี "The Documentary: Mind Journey" เพื่อเป็นตัวอย่างในการค้นหาประเด็นที่น่าสนใจและกระบวนการผลิตสารคดี ทั้งคู่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจถึงความเป็นจริงของสถานการณ์

สำหรับการอบรม  TMF DOCUMENTARY FILMMAKER 2024 “สร้างคนสารคดี สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ”   มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิตสื่อสารคดีมือใหม่ โดยผู้เข้าอบรมได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับลักษณะสำคัญของสารคดี ประเภทต่าง ๆ ของสารคดี และกระบวนการผลิตสื่อสารคดีโดยละเอียดจากนายพงศ์เผ่า อากาศสุภา และทีมงาน และประเด็นความสำคัญของจริยธรรมสื่อและกฎหมาย PDPA เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถผลิตสื่อสารคดีได้อย่างมืออาชีพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม  โดย ผศ.ดร.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมเวิร์คช็อปอย่างเข้มข้นกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสารคดี ได้แก่ นายสันติ   แต้พานิช นายพัฒนะ จิรวงค์ และนายภาคภูมิ ประทุมเจริญ โดยได้ลงมือปฏิบัติจริงในการผลิตสารคดีสั้นใน 3 พื้นที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตลาดพาหุรัด และใต้สะพานพระราม 8 โดยผู้เข้าร่วมได้เลือกทำสารคดีในหัวข้อที่ตนเองสนใจ เช่น "ร่องรอยของเรื่องราว" "สวัสดีคนแปลกหน้า" หรือ “ฮึบ ฮึบ” ซึ่งครอบคลุมกระบวนการผลิตตั้งแต่การวางแผน การถ่ายทำ จนถึงการตัดต่อ

นายพัฒนะ จิรวงค์ วิทยากรเล่าถึงหัวใจสำคัญของการผลิตสื่อสารคดี กล่าวว่า ได้นำประสบการณ์ ที่เคยทำ มาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง มาแชร์ว่าการทำสารคดีเรื่องหนึ่งไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรก็ได้ การทำสารคดีต้องมีวางแผน พยายามให้เขาวางแผน มีการลงพื้นที่ไปหาตัวละคร หาประเด็น แล้วกลับมาวางแผนว่าเพื่อโฟกัสเรื่องราว และต้องสื่อสารให้ได้ว่าต้องการจะบอกอะไรกับคนดู ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและถ่ายทอดมันออกมาให้ได้

 

ด้าน นายสันติ แต้พานิช วิทยากรเล่าถึงกระบวนการที่สำคัญในการผลิตสื่อสารคดี ประสบการณ์  ความเชื่อที่สื่อสารไปบอกน้อง ๆ ที่ว่า ไม่ว่าคุณจะทำสไตล์ไหน เนื้อหาของเรื่องจำเป็นต้องมี   จะเล่าเรื่องคนนี้ จะเล่าเรื่องสถานที่แห่งนี้ เรื่องราวเหล่านี้จะมีอะไรบางอย่างที่คนดูจะได้รับ  และหากมีการจัดกิจกรรม workshop อยากให้น้อง ๆ สมัครเข้าไปหาประสบการณ์เพื่อเป็นการเรียนรู้ในด้านนี้

 

ปิดท้ายด้วย  นายภาคภูมิ ประทุมเจริญ วิทยากร เล่าถึงความคาดหวังหลังการจัดอบรมฯ เชื่อว่าตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน มันไม่ใช่แค่เพียงกระบวนการในการผลิตสื่อ แต่ยังเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ที่เราจะเป็นเครือข่ายในการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นต้นทุนที่สำคัญ เป็นลมใต้ปีกของคนที่มีความอยากทำ มีความสนใจ ได้องค์ความรู้แล้วกลับไปทำหน้าที่สื่อสารในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

การอบรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจผลิตสารคดี  จากการอบรมในครั้งนี้มีผู้ผลิตผลงานสารคดีสั้นจำนวน 20 เรื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงตลอด 3 วัน ผลงานที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายและน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมการอบรม   และนอกจากนี้กองทุนพัฒนาสื่อฯ ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมดี ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้เข้ามาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์  สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

++++++++++++++++