ปากกาขนนก /สกุล บุณยทัต
“...อิสรภาพเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเปิดใจรับ..มันคือความหมายของนัยแห่งความเบิกบานใจ..ผ่านปัญญาญาณที่พร้อมจะสนองรับความเปลี่ยนแปลง.. “เราต้องเต็มใจที่จะเป็นคนธรรมดาโดยสิ้นเชิง และต้องยอมรับตัวเองอย่างที่เราเป็น...” เสมอ..
นั่นคือ..วิถี..ที่เสริมส่งให้ชีวิตได้พบกับแก่นสารแท้จริงแห่งความสุขสงบ..จนกระทั่งสามารถทำให้เข้าใจได้ถึงโครงสร้างอันลึกซึ้ง..ของจิตวิญญาณแห่งการดำรงอยู่..โดยแท้จริง ...”
..รากฐานอันชวนคิด จากคำกล่าวนำข้างต้น..คือ..สาระที่ได้รับจากหนังสือแห่งพุทธปัญญาเล่มสำคัญ... “เบิกบานด้วยปัญญา : เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง..อ้าแขนรับอิสรภาพ"(JOYFUL WISDOM : Embracing Change and Finding Freedom)..งานเขียนอันสงบงามและเปี่ยมไปด้วยคุณูปการ..ของ.. “ยงเก มินจูร์ รินโปเช”(Youngey Mingyur Rinpoche) กับ “เอริค สวอนสัน”(Eric Swanson)..
...นี่เป็นหนังสือเล่มแรกของท่าน “ยงเก มินจูร์”..ที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของนิวยอร์กไทม์ส..เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่า..อ่านสนุก ให้ความรู้ด้านพุทธธรรม และ เหมาะสมกับยุคสมัย..เนื่องเพราะ เป็นการสื่อถึงการถกปัญหาในเรื่องความวิตกกังวล ซึ่งเป็นมาช้านาน ..
“หากมองจากมุมมองของพุทธศาสนาที่มีมากว่า 2,500 ปี_จะพบว่า..ทุกยุคทุกสมัยในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อาจเรียกได้ว่า..เป็นยุคแห่ง “ความวิตกกังวล” ..คำถามก็คือว่าเราจะทำเช่นใดดี.. “จะหนีหรือจะจำยอม” และ..ไม่ว่าจะเป็นไปในทางไหน ..ก็ล้วนแต่จะทำให้เกิดและมีปัญหามากขึ้น..ท่านจึงได้กล่าวไว้..เป็นแนวทางให้ได้ตระหนักว่า.. “..พุทธศาสนา มีทางเลือกที่สาม ให้กับเรา..”
ดั่งนี้..เราจึงต้องเต็มใจที่จะเป็น “คนธรรมดา” โดยสิ้นเชิง..เราต้องยอมรับตัวเอง อย่างที่เราเป็น.. เมื่อได้..ศึกษาคำสอนของท่านอย่างเปิดใจแล้ว..สิ่งที่ได้ประจักษ์ยิ่งๆขึ้น..ก็คือ..คำสอนของท่านนั้น..ประกอบสร้างขึ้นอย่างแม่นตรงด้วยความชาญฉลาด..และอารมณ์ขัน เต็มไปด้วยเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย..รวมทั้งการให้ความรู้สึกที่สำคัญ..
ส่วน “เอริค สวอนสัน” จบจาก “เยล” และ “จูเลียต สกูล”..เข้ามาเป็นพุทธมามกะ เมื่อปีค.ศ.1995..และได้เขียนหนังสือมีชื่อที่ได้สร้างเกียรติประวัติให้แก่เขา “What the Lotus Said”..หนังสือที่เล่าถึงการเดินทางสู่ทิเบตอันมีคุณค่า..ของชีวิตเขา..!
ข้อคิดจากหนังสือเบิกบานด้วยปัญญา
..ล้วนเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ด้วยรับรู้ในมิติโครงสร้างของชีวิตที่แบบยล..นับแต่..การเข้าถึง การภาวนา..ที่แท้จริงแล้ว มันคือการฝึกสังเกตความคิด..อารมณ์ความรู้สึก..ในเวลาที่มันเกิดขึ้นและดับไป..นั่นคือหนทางที่เราจะได้พบกับอิสรภาพที่แท้จริง..
เป็นหนทางเดียว ที่มันจักเกิดขึ้นได้ .ทั้งนี้ก็ด้วยก็ด้วยการอ้าแขนรับ..ในเหตุปัจจัยที่เราทุกข์.. “ใช้ตัวปัญหานั่นเอง..เป็นอุบายในการแก้ปัญหา”..
..ว่ากันว่า อิสรภาพที่แท้จริง..หาได้อยู่ที่การถอยห่างจากชีวิต แต่อยู่ที่การระลึกรู้อย่างลึกซึ้งในกระบวนการทุกอย่างของชีวิต..อย่างเช่นประเด็นของทุกข์หรือเหตุแห่งทุกข์ ก็มิใช่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์แวดล้อม ..หากแต่อยู่ที่ท่าที.และ เป็น “ท่าที” ของสถานการณ์ที่เรามองและตีความ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ..ต่างหาก..!
..มีสิ่งที่นักประสาทวิทยาค้นพบในมิติที่เป็นอานิสงส์ของชาวโลก..อานิสงส์ของการปฏิบัติภาวนาแบพุทธ..นั่นก็คือการที่เราสามารถใช้สถานการณ์ที่เป็นปัญหาซึ่งจักทำให้เราเกิดอารมณ์และมีอารมณ์เชิงลบ..มาเป็นเครื่องมือช่วยให้เราเข้าถึงพลังและศักยภาพที่เรามีอยู่ในตัว
..เราจึงสามารถที่จะเชื่อได้ว่า ..การเฝ้าดูความคิด บารมี ความรู้สึก และ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น..จะทำให้เข้าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเรา จนสามารถตั้งรับกับปัญหา..ที่ท้าทายต่างๆ..ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้..อีกทั้งยังจะช่วยให้เราค้นพบ เมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าหาญ ปัญญา และ ความสุขความเบิกบานที่อยู่ในตัว..เมล็ดพันธุ์นี้กำลังรอคอยเวลาที่จะเติบโต..และผลิบาน ..
“เวลาที่เรายึดมั่นกับความคิด เราย่อมสูญเสียศักยภาพที่จะโบยบิน..!”
..หนังสือเล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน อันประกอบด้วย.. “หลักแท้แห่งการปฏิบัติภาวนา ประสบการณ์ และ การลงมือปฏิบัติ..” โดยเริ่มต้นจาก.. ในอุโมงค์..อานุภาพของมุม ฝ่าปัญหา” ..มาสู่ “เครื่องมือสู่ความเปลี่ยนแปลง ใส่ใจสนใจ ..ปัญญา และ หัดเห็นใจผู้อื่น..” ไปสู่ “ชีวิตบนเส้นทางธรรม..ทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว กระทำและค้นพบ ความเบิกบานด้วยปัญญา”
..*จุดมุ่งหมายเดียวในชีวิตมนุษย์ คือ..จุดไฟให้ชีวิตอันมืดมิดนี้..สว่างไสว*
ท้ายที่สุด “ยงเก มินจูร์” ได้อนุมาน..เกี่ยวกับรากฐานของชีวิตที่สมควรจะเป็นว่า.. “ความซื่อตรง กลับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับข้าพเจ้า”
เหตุผลสำคัญที่สุด..ในประเด็นอันมีค่านี้ ถูกชี้ว่า..แม้แต่อาจารย์ทางธรรม ที่ช่ำชองทั้งหลาย ต่างก็เคยผ่านจุดที่ยากลำบากที่สุดของการภาวนากันมาแล้ว..มีน้อยคนนัก ที่จะตั้งมั่นได้..
และ..ในครั้งแรกที่เขาลงนั่งภาวนา.. “คนที่หายาก” เช่นนี้ก็ยังต้อง เรียนรู้ปัญหาสารพัน..ในแบบที่ผู้ปฏิบัติต้องเผชิญ..ทั้งนี้..ถ้าไม่จากคำบอกเล่าของอาจารย์ ก็จากคัมภีร์ที่เขียนโดยครูของอดีต...ซึ่งก็แน่นอนว่า..ใครก็ตามที่สอนศิษย์มาเป็นร้อยคน เป็นเวลาหลายปี..ย่อมเคยเจอกับเสียงบ่น ทุกประเภทของศิษย์..และต้องพบเจอความเข้าใจผิดทุกประเภท..ที่เกิดขึ้นกับศิษย์ระหว่างปฏิบัติภาวนา..
ด้วยความรู้ที่ลึกล้ำ กว้างขวาง ซึ่งครูบาอาจารย์เหล่านี้สั่งสมมา.. “พวกท่าน” จึงสามารถบอกได้อย่างตรงจุดว่า..จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร..? และยังหยั่งรู้อย่างแน่นอนและแม่นยำว่า..จะนำเสนอวิธีแก้ปัญหา..แก่ชีวิตนี้อย่างไร?..
“ความยึดมั่นถือมั่น(ชินปะ)..หมายถึงความพยายามที่จะตรึงสิ่งที่เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา..ให้นิ่งสงบอยู่กับที่..”
นี่คือ..หนังสือแห่งการฝึกตนให้ดำรงอยู่อย่างรู้ตัว..ภายใต้ชีวิตที่เคลือบแฝงไว้ด้วยการบีบกดจาก “สัมภาระ” อันหน่วงหนักและรกเรื้อของโลกวันนี้ ที่ทำให้จิตใจต้องซัดส่าย และ..เชือดเฉือนจิตวิญญาณของตัวตนจนขาดวิ่น..มันคือรอยแผลอันฉีกขาด..ที่รอคอยคำสอนแห่งการเยียวยาของ “โลกสำนึก” อันแม่นตรงและเฉียบคม..
หากเราเชื่อว่า..การมีชีวิตอยู่นั้นสำคัญ..นั่นก็เท่ากับว่า...ความเบิกบานของชีวิตนั้น..ก็จะต้องแนบชิดกับความเป็นอย่างชิดใกล้..และโอบกอดซึ่งกันและกัน..อย่างรื่นรมย์และเข้าใจ..!
“นัยนา นาควัชระ” แปลและถอดความนัยของหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างลึกซึ้งและเต็มไปด้วย...สัดส่วนของปัญญาญาณที่หยั่งรู้..มันคือความหมายของศานติรสแห่งธรรม..ที่เพรียวบางและหนักแน่นระคนกัน..
“..อริยสัจสี่..สอนให้เราเห็นถึง..สถานการณ์พื้นฐานของชีวิต/สาเหตุแห่ง สถานการณ์นั้นๆ/ความเป็นไปได้ที่สถานการณ์นั้นจะเปลี่ยนแปลง/และ ..วิธีที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว..ด้วยความช่ำชอง..อย่างไม่มีใครเปรียบ”..!