Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.68 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.52-33.69 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งต่างสนับสนุนให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐฐาล Trump กลับไม่ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์มากนัก ดังจะเห็นได้ว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคงให้โอกาสราว 52% ที่เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ได้ ทว่า การทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญ 150 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายบรรดาหุ้นกลุ่มค้าปลีก นำโดย Walmart -6.5% หลัง Walmart ประกาศคาดการณ์ผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายด้านกลาโหม อย่าง Palantir -5.2% ก็ปรับตัวลดลง หลังมีแนวโน้มที่งบประมาณใช้จ่ายด้านกลาโหมของสหรัฐฯ อาจถูกปรับลดลง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.43%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.20% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ในส่วนตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.51% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.50% ได้อย่างชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาความชัดเจนของแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงประเมินโอกาสราว 52% ที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับ 150 เยนต่อดอลลาร์ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 106.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.3-107 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) จะเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดออกมาบ้าง แต่ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,950-2,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซน ผ่าน รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของทั้งอังกฤษ และยูโรโซน (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกุมภาพันธ์
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนกุมภาพันธ์ โดย S&P Global ด้วยเช่นกัน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในช่วงวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปและเงินยูโร (EUR) ได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ถือว่า เหนือความคาดหมายของเราไปบ้าง หลังบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงทยอยแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับสำคัญ 150 เยนต่อดอลลาร์ อีกทั้ง ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์กลับเข้ามาบ้าง จากทั้งฝั่งผู้ประกอบการ อย่าง ผู้นำเข้า และเราประเมินว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่คงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ ก็อาจทยอยเพิ่มสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) หลังดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่โซนแนวรับสำคัญระยะสั้น อนึ่ง เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาท (USDTHB) อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways โดยยังมีโซนแนวรับแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.30 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวต้านจะอยู่แถว 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ทว่า เงินบาทก็เสี่ยงจะเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากทั้งฝั่งยุโรป (อังกฤษและยูโรโซน) และสหรัฐฯ อีกทั้งตลาดจะรับรู้ปัจจัยการเมืองยุโรป อย่าง การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ โดยเราประเมินว่า ผลการเลือกตั้งของเยอรมนี อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในช่วงวันจันทร์ได้พอสมควร
โดยหากประเมินจากผลโพลล่าสุด เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า พรรค CDU/CSU พรรค SPD (รัฐบาลก่อนหน้า) และพรรค Greens อาจจะได้รับที่นั่งในสภาพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ในช่วงระยะสั้นนี้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ กรณีที่พรรคขวาจัด อย่าง AfD สามารถชนะการเลือกตั้งได้มากกว่าคาด ซึ่งในกรณีดังกล่าว อาจเห็นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง บรรดาหุ้นเยอรมนี จนอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.75 บาท/ดอลลาร์
#กรุงไทย #บาทแข็ง #ข่าววันนี้ #เงินตรา #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์