วันที่ 20 ก.พ.2568 เวลา 20 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าว อันเนื่องมาจากราคาตกต่ำ ซึ่งมี สส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน พร้อมใจกันเสนอญัตติรวม 7 ร่าง โดยภายหลังการเสนอหลักการ ได้มีการเปิดให้ สส.อภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่โจมตีไปที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลเรื่องข้าว
นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากข่าวที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือราคาข้าวตกต่ำ และมีการชุมนุมปิดถนนเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล ตนจะไม่พูดเรื่องตัวเลข เพราะตัวเลขมันเยอะเหลือเกิน ทุกคนทราบดีอยู่แล้วการ การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะฉะนั้น การที่กำลังประชุมกันใน คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ต้องเร่งด่วน เราเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มัน ยาง เดี๋ยวนี้ข้าวราคาตกต่ำ มันสำปะหลังก็ตกต่ำ ยังดีหน่อยก็คือราคาอ้อย แต่ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ผมกล่าวมาเบื้องต้นนั้นก็คือการส่งออกทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ระบบบริหารจัดการเท่านั้นเอง มันไม่ได้มีระบบอะไรมากมายนัก
“ถ้าพูดเรื่องข้าว เราไม่เอ่ยถึงกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่มีรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าขาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นพรรคเดียวกัน เป็นรัฐบาลด้วยกัน แต่ก็ต้องมีการติติง แม้กระทั่งในพรรคเพื่อไทยของตน ก็มีการได้คุยกันแล้ว วันนี้ทุกพรรคการเมืองก็เห็นพ้องต้องกัน รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ได้ ตัวแทนเกษตรกรไม่มีใน นบข.ทุกอย่างอยู่ในห้องแอร์ เขาก็ลงถนนสิครับ”นายธีระชัย กล่าว
ขณะที่นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจที่เห็นพี่น้องมาประท้วงกันในหลายจังหวัด จ.อ่างทองของตนก็มาประท้วง ราคาสินค้าตกต่ำลงมามากมาย พี่น้องเกษตรกรอยู่ไม่ไหว ทำไมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างไรเลย อยากจะฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ให้ช่วยเร่งรัดในการออกมาตรการต่างๆ ที่จะมาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในระยะสั้นเฉพาะหน้าตรงนี้
นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์เองที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลสินค้าเกษตรและต้นทุนในการผลิต วันนี้เราไม่ได้ลงมือทำ เราไม่ได้เพิ่งรู้ปัญหาวันนี้หรือเมื่อวานนี้ เรารู้ปัญหาตรงนี้มานานเป็นเดือนแล้ว และเราก็รู้ข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี เรารู้ว่าที่ไหนปลูกข้าวพันธุ์ไหน จำนวนเท่าไหร่ และผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเมื่อไหร่ แต่ที่น่าแปลกใจคือทั้งที่รู้สถานการณ์ของโลก รู้สถานการณ์ภายในประเทศ แต่เราไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดปัญหาที่รวดเร็วทันใจพี่น้องประชาชนเลย
“อย่าไปคิดเลยครับ ตั้งจุดรับซื้อข้าว เพื่อจะช่วยราคาข้าวอีก 100 - 200 บาท พี่น้องเกษตรกรเขาเป็นชาวนาครับ เขาไม่ใช่ผู้อนาถา ที่จะมารอเงินช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆจากทางรัฐบาลแบบนี้” นายกรวีร์ กล่าว
ต่อมาเวลา 19.30น. ภายหลังอภิปรายอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติส่งญัตติไปให้ รัฐบาลพิจารณาต่อไป รวมถึงส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตร สภาผู้แทนราษฎร ไปศึกษา ภายใน 90 วัน ก่อนส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งปิดการประชุมในเวลา 19.35 น.