คาดยอดมีเกือบ 1.5 แสนตัว ขณะที่กทม.รับดูแลได้แค่หมื่นเดียวเท่านั้น โดยยังต้องพิจารณาอีกหลากหลายด้านเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว คาดหากทำได้น่าจะตัดวงจรขยายพันธุ์แก้ปัญหาได้อีกต้นตอ พร้อมส่งคืนให้ชุมชนช่วยดูต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในเขตกทม.เพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ร่วมกับภาคีองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ อาทิ มูลนิธิเดอะวอยซ์ มูลนิธิเดอะโฮป ไทยแลนด์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กลุ่มคนรักสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังจากผู้ว่าฯกทม.ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กทม. สำนักงานปศุสัตว์ กรมควบคุมโรคติดต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มคนรักสัตว์หลายๆ กลุ่ม ปัจจุบันตัวเลขจำนวนสุนัขจรจัดในกทม.จากกรมปศุสัตว์ ประมาณ 140,000-150,000 ตัว ส่วนมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยแจ้งว่าหากค้นหาอย่างจริงจัง อาจมีมากกว่านั้น ขณะที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดของกทม. ทั้งในส่วนศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดทัพทัน จ.อุทัยธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 10,000 ตัว เมื่อเทียบกับปัญหาจำนวนสุนัขจรจัดที่มีกว่า 150,000 ตัว กทม.จึงไม่มีพื้นที่รองรับได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ที่ประชุมจึงเสนอแนวคิดโครงการสุนัขชุมชนขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หลักเกณฑ์และองค์ประกอบของสุนัขชุมชน แต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างไร ชุมชนต้องดูแลสุนัขอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐและกลุ่มคนรักสัตว์จะช่วยเหลือในการฉีดวัคซีน ทำหมันสุนัขและแมวในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งคาดว่าหากโครงการสุนัขชุมชนเข้าไปทำหมันสุนัขและแมวในชุมชนและวัดต่างๆ ในกทม.ได้ น่าจะสามารถตัดวงจรการขยายพันธุ์ของสุนัขและแมวในชุมชนได้ระดับหนึ่ง และนำสุนัขและแมวเหล่านั้น คืนสู่ชุมชน ให้ชุมชนดูแลต่อไป ส่วนสุนัขหรือแมว ที่สร้างปัญหาหรือดุร้าย ไล่กัดคน กทม. และกลุ่มคนรักสัตว์ยินดีที่จะรับมาดูแลและฟื้นฟู ส่วนการร้องเรียนปัญหาสุนัขและแมวจรจัด กทม. และกลุ่มคนรักสัตว์จะช่วยเจรจาขอข้อยุติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามแนวคิดดังกล่าว คาดว่าภายในไม่กี่ปีจะลดการแพร่ขยายของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กทม.ได้