ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในทางเศรษฐกิจ และพลังทหาร ดังนั้นเมื่อทรัมป์ซึ่งมีแนวคิดที่แปลกแยกไปจากแนวการเมืองที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
ทั้งโลกก็ต่างจับตามองว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายอย่างไรและจะมีผลกระทบอะไรต่อโลก และประเทศแต่ละประเทศ
เมื่อมาถึงจุดนี้ แม้จะพึ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงหนึ่งเดือนทรัมป์ก็สามารถสร้างความปั่นป่วนแบบไม่คาดคิดให้กับหลายๆประเทศในโลก
แต่ขอสรุปแนวทางที่น่าจะเป็นสำคัญๆคือแนวโน้มสงครามที่กำลังรบกันอย่างดุเดือดและติดพัน ในภูมิภาคยุโรปคือรัสเซีย-ยูเครน มีทีท่าว่าจะยุติลง ด้วยการเจรจาโดยตรงระหว่างทรัมป์-ปูติน โดยไม่มียุโรป และเซเลนสกีมาเกี่ยวข้อง และมีกรอบว่าจะไม่มีทหารสหรัฐฯในยูเครน ยูเครนจะไม่เข้านาโตและยูเครนจะต้องยอมรับสภาพที่จะเสียดินแดน ที่ถูกรัสเซียยึดครอง
นอกจากนี้ทรัมป์ยังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เขาจะเชิญผู้นำจีนสีจินผิง และปูตินมาร่วมคุยกันในโอกาสต่อไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในงบกลาโหม ซึ่งทรัมป์คาดว่าจะลดลงได้ครึ่งหนึ่งทีเดียว
ทั้งนี้ถ้าดูงบประมาณกลาโหมที่ไบเดนทิ้งทวนไว้ให้ทรัมป์ก็ตกเข้าไปกว่า 9 แสนล้านครึ่งหนึ่งก็ 4 แสนห้า ซึ่งจะทำให้งบขาดดุลกว่า 6 แสนล้าน เหลือขาดดุลประมาณ 2 แสนล้าน เมื่อรวมกับการตัดงบอื่นๆที่ทรัมป์มอบให้อีลอนมัสทำ ก็อาจอนุมานได้ว่าสหรัฐฯจะมีงบที่ไม่ขาดดุลเป็นครั้งแรก ซึ่งจะสร้างคะแนนนิยมให้ทรัมป์เป็นอย่างมาก
ส่วนด้านตะวันออกกลาง แม้ทรัมป์จะนำเสนอแผนให้อพยพชาวกาซาไปไว้ที่อื่นและจะให้มีการบูรณะใหม่ เพื่อให้เป็นวิเวียร่า จนถูกประณามไปทั่ว ยกเว้นไซออนิสต์ในอิสราเอลและที่อื่นๆ
แต่ผู้เขียนมองว่าการที่ทรัมป์อ้างตัวและนำสหรัฐฯเข้ามาเป็นเจ้าภาพในงานนี้และพูดจาเหมือนเอาใจบรรดาไซออนิสต์ทั้งปวงนั้น
เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่พวกนี้จะก่อให้เกิดในแคปปิตอลฮิลล์ เพราะองค์กรล็อบบี้ของไซออนิสต์ มีอิทธิพลในรัฐสภาสหรัฐฯอย่างยิ่ง จนกว่าทรัมป์จะได้ใจคนมะกันส่วนใหญ่ และฝั่งเดโมแครตก็ไม่อาจก่อความวุ่นวายภายในประเทศได้ ทรัมป์จึงอาจเปิดแผนสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
กล่าวโดยสรุปผู้เขียนมองว่าทรัมป์นั้นมีความตั้งใจที่จะยุติสงคราม ตามความคิดในฐานะนักธุรกิจ แม้อาจจะขัดแย้งกับ Deep State ด้านอุตสาหกรรมอาวุธ แต่จะได้แรงสนับสนุนจากไซออนิสต์ด้านการเงิน และรวมด้านพลังงานเพราะทรัมป์ก็สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ดูไปแล้วสถานการณ์โลก น่าจะดีเมื่อมหาอำนาจต่างต้องการสร้างสันติภาพ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเหมือนการประชุมยัลตาในอดีต
อย่างไรก็ตามทรัมป์กลับสร้างเรื่องสงครามเศรษฐกิจ ซึ่งโดยนัยนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการปั่นป่วนได้ทั่วโลก เช่น การประกาศขึ้นภาษีศุลกากร ทั้งเป็นรายประเทศและเป็นการทั่วไป เช่นเก็บภาษี เหล็ก และอะลูมิเนียม25% และยังจะมีตามมาอีกเป็นขั้นๆจาก 5% เป็น 10% จนถึง 25% สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะถ้าประเทศคู่ค้าต่างขึ้นภาษีตอบโต้ การส่งออกจะกระทบไปทั่วโลกรวมทั้งไทย
ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะผ่อนปรนได้ด้วยการหาตลาดใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าในตลาดที่มีแนวโน้มดี อย่างไทยก็มีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศในอาเซียนค่อนข้างดีสูงกว่าการค้ากับสหรัฐฯ แต่ก็นั่นแหละ คงไม่พอมาทดแทนมูลค่าที่ขาดหายไปจากการขึ้นภาษีนำเข้าของมะกัน ยกเว้นพ่อค้าไทยจะยอมแบกรับภาษีนั้นไว้เอง แล้วผลักภาระให้คนผลิต เช่นเกษตรกร
ปัญหาสำคัญคือเศรษฐกิจเมกากำลังเป็นฟองสบู่ มูลค่าของตลาดการเงินสูงถึง 200% กว่าของมูลค่า ผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง (REAL GDP) และ P/E RATIO สูงถึง 37 เท่า ทรัมป์จะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะที่คุม FED ไม่ได้
นอกจากนี้การขึ้นภาษีนำเข้าตามนโยบายของทรัมป์ มีโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อได้สูง ขณะเดียวกันการขาดดุลงบประมาณและการเป็นหนี้สาธารณะ สูงถึง 36.7 ล้านๆ
จะทำให้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้สาธารณะ การจะออกพันธบัติรัฐบาลได้ในขณะนี้ก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าของเก่า เพราะลูกค้ารายใหญ่อย่างญี่ปุ่นและจีน ก็เริ่มจะไม่ยอมรับซื้อแล้ว จึงคงต้องไปหาจากรายย่อยทั่วโลก เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะเกิดผลกระทบกับตลาดหุ้นที่เป็นฟองสบู่ ซึ่งถ้ามันพังขึ้นมาทรัมป์จะแก้ปัญหาอย่างไร ตอนนี้เงินเฟ้อให้สหรัฐฯก็เกิน 3% แล้ว (เป้าหมาย 2%)
ในอดีตรัฐบาลในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่สุดได้ใช้การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่นั่นสงครามมันเกิดที่ยุโรปและเอเชีย ไม่กระทบภายในสหรัฐฯ ทว่าคราวนี้สงครามโลกครั้งที่ 3 คงหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ไม่พ้น และสหรัฐฯก็จะต้องเสียหายยับไปด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่ทรัมป์จะเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ โดยที่ทรัมป์เองก็ไม่ต้องการสงคราม
ด้วยเหตุนี้จึงจะเกิดปัญหามหาวิกฤตทางเศรษฐกิจลามไปทั่วโลก โดยจะเกิดภาวะที่มีเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกว่า Stagflation ระบาดไปทั่วโลก
ประเทศไทยจึงควรเตรียมตัวรับมือโดยปรับกระบวนการผลิต ขยายตลาดเก่าและหาตลาดใหม่ ในที่นี้ขอแนะนำตัวอย่างสักประเทศหนึ่งเพื่อเป็นข้อพิจารณาในการแก้ปัญหา นั่นคือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
1.จุดแข็งคือซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มั่งคั่ง ร่ำรวย กำลังซื้อสูง 2.มีนโยบายเปิดกว้างที่จะสร้างความหลากหลายของการผลิตส่งออกและนำเข้าด้วยวิสัยทัศน์ 2030 ที่มีโครงการใหม่ๆ 3 ชุดด้วยกันคือ
2.1 โครงการจัดตั้งศูนย์รับส่งสินค้าทางบก ทางทะเล ทางอากาศ โดยจะมีท่าเรือขนาดใหญ่ ศูนย์คอนเทนเนอร์ใหญ่ระดับโลก ถนน และรถไฟความเร็วสูง กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆโดยเฉพาะแอฟริกา
2.2 โครงการที่อยู่อาศัย The Line ขนาดกว้าง 200 เมตรสูง 500 เมตร ยาว 17 กม. ใช้พลังงานสีเขียว และระบบเดินทางที่ไม่ต้องใช้รถส่วนบุคคล
2.3 โครงการศูนย์กีฬา การท่องเที่ยว และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ นอกจากนี้ยังมีแผนปลูกต้นไม้ ทั้งหมด 50,000 ล้านตัน โดยทยอยปลูกตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา เริ่มจาก 100 ล้านต้นและเพิ่มเป็นทวีคูณตามแผน
ที่สำคัญซาอุดีอาระเบียอุดมไปด้วยพลังงาน จึงมีความมั่นคงทางพลังงานและยังมีแผนสร้างแหล่งพลังงานที่หมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังไม่สู้มีความมั่นคงทางอาหาร แม้จะพยายามดำเนินการอยู่ก็ตาม
ดังนั้นประเทศไทยโดยรัฐบาลอาจจะเป็นผู้นำร่องในการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อเติมเต็มช่องว่างให้กันนั่นคือ ไทยค่อนข้างมีความมั่นคงทางอาหาร แต่ไม่มั่นคงทางพลังงาน จึงควรมีโครงการแลกเปลี่ยนเสริมกำลังกัน
นอกจากนี้รัฐบาลซาอุดิอารเบียยังคำนึงถึงประชากรของเขาที่มีอยู่ประมาณ 33 ล้านคนที่รัฐบาลในปัจจุบันต้องเลี้ยงดูด้วยรายได้จากน้ำมัน เขาจึงพยายามสร้างงานให้ประชาชนของเขาทำโดยให้ทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปในการสนับสนุน SME โดยประกอบกับโครงการให้ความรู้อบรมการแนะนำธุรกิจดังกล่าวและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุน
ดังนั้นรัฐบาลไทยก็อาจสนับสนุนให้ SME ในไทยที่กำลังจะสูญพันธุ์ได้เกิดใหม่ด้วยการสนับสนุนให้จับคู่ทางธุรกิจกับ SME ซาอุดีอาระเบีย และอาศัยประเทศนี้เป็นสะพานเข้าสู่แอฟริกาที่มีถึง 54 ประเทศและมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุทรัพยากรธรรมชาติ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่รัฐบาลไทยจะใช้เป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหายามเกิดมหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ น่าจะดีกว่าทางเลือกอื่น เช่น การพึ่งพาธุรกิจนำเที่ยวที่อ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือการสนับสนุนให้คนไทยไปทำงานต่างประเทศที่เสี่ยงภัยเช่นอิสราเอล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไทยต้องศึกษาและติดตามการปรับปรุงกฎระเบียบและอุปนิสัยที่ค่อนข้างแข็งตัว นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของทรัมป์ที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในตะวันออกกลางได้อย่างยั่งยืนหรือไม่