"องคมนตรี" ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นายธนฤทธิ์ รัชตะประกร ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประชุมติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรับฟังรายงานสรุปภาพรวมการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สรุปสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำมูล โอกาสนี้องคมนตรีและคณะได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้น้ำของโครงการฯ
จากนั้น องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังพื้นที่จุดบรรจบแม่น้ำชี-มูล บ้านท่าขอนไม้ยูง หมู่ที่ 12 ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี – มูลพร้อมกับพบปะกลุ่มประมงพื้นบ้าน และปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้น้ำและราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ โอกาสนี้ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานให้แก่ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ จากนั้น องคมนตรีให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการจัดการน้ำ และร่วมปล่อยปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำฯ
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จังหวัดสกลนคร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริสรุปความว่า จะต้องทำการพัฒนาให้เข้าใกล้ชายแดนมากขึ้น จะต้องเข้าไปถึงในที่ที่จะทำให้สามารถสร้างหมู่บ้านตามชายแดน ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศได้มากขึ้น ตามแผนที่นั้นมีแห่งหนึ่งที่เป็นช่องเห็นได้ชัด คือ ช่องบกในเขตอำเภอน้ำยืนในบริเวณนี้จะมีห้วย 2 ห้วย มาบรรจบกัน
เราก็สามารถกั้นอ่างเก็บน้ำสูงประมาณ 10 เมตร ถ้าทำระบบให้ดีก็สามารถเลี้ยงพื้นที่ได้ถึง 10,000 ไร่ และในปี 2530 กรมชลประทาน จึงดำเนินการก่อสร้างเขื่อนดิน ความกว้าง 8 เมตร ยาวรวม 2,170 เมตร แยกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งลำห้วยผึ้ง 1,100 เมตร ฝั่งลำห้วยพลาญเสือ 1,070 เมตร ความสูง 13.50 เมตร ขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักน้ำปกติ ประมาณ 33.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2531 โดยมีลำห้วยพลาญเสือ เป็นลำห้วยในลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงบริเวณชายแดนรอยต่อ 3 ประเทศ (สามเหลี่ยมมรกต) ไหลมารวมกับลำห้วยบอนและลำห้วยโปร่งลิง (ฝั่งซ้าย)
นอกจากนั้นยังมีลำห้วยผึ้ง (ฝั่งขวา) สภาพพื้นที่บริเวณด้านเหนืออ่างฯ เป็นเนินเขาสูง สำหรับด้านท้ายอ่างฯ เป็นที่นา สลับ ป่าโปร่ง ในปี 2532 ก่อสร้างระบบส่งน้ำประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 1 สาย และสายซอย 7 สาย รวมความยาว 27.81 กิโลเมตร และอาคารประกอบในคลองรวม 214 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2536 และในปี 2559 ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการปรับปรุงการเก็บกักน้ำจากปริมาณน้ำจากเดิม 33.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.00 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7.50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการเพิ่มระดับน้ำเก็บกักด้วยการติดตั้งบานระบายน้ำแบบพับได้ลงบนสันฝายเดิมพร้อมระบบควบคุมการเปิด – ปิดบานระบายน้ำ แล้วเสร็จเมื่อปี 2560
ปัจจุบันโครงการสามารถช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน และหมู่บ้านแก้งเรือง บ้านแก้งขี้เหล็ก และบ้านทุ่งเงิน อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และสนับสนุนพื้นที่ทั้งหมดของโครงการประมาณ 6,850 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 5,823 ไร่ และส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก ในฤดูแล้ง 1,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรปลูกข้าวนาปีและนาปรัง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนได้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำรอง เพื่อการผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
กองประชาสัมพันธ์สำนักงาน กปร.