สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาคโลก ต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน
อย่างไทยเรา ก็ต้องพบกับสายฝนที่โปรยปราย พร้อมกับบรรยากาศที่ยังขมุกขมัว จนน่ากลัวกับฝุ่นละอองพิษจิ๋วในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ
แต่ที่นับว่าสาหัสสากรรจ์ อาการหนักยิ่งกว่าไทยเรานั้นก็เห็นจะเป็น “สหรัฐอเมริกา” ประเทศอีกฟากซีกโลก ที่ปรากฏว่า ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ “พายุหมุนขั้วโลก (Polar vortex)” ที่พัดกระหน่ำปกคลุมในพื้นที่ตอนกลาง และภาคเหนือของสหรัฐฯ อย่างบริเวณเทือกเขาร็อกกี อันเป็นพื้นที่เทือกเขาที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี
โดยปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติจากพายุหมุนขั้วโลกพัดถล่มสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็เสมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ที่กระหน่ำเล่นงานสหรัฐฯ ต่อเนื่องจาก “พายุฤดูหนาว” ที่พัดถล่มในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า อันส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน พร้อมกับทำผู้คนได้รับความเดือดร้อนหลายพันคน จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามมา
ไม่ว่าจะเป็นหิมะที่ตกลงมาอย่างหนัก การเกิดมหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ กินบริเวณกว้างในพื้นที่หลายรัฐ
ทางนักอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่า ในพื้นที่หลายรัฐของสหรัฐอเมริกา จะเผชิญกับปรากฏการณ์พายุหมุนขั้วโลก ครั้งที่ 10 ซึ่งจะทำให้อากาศหนาวเย็นที่สุดในฤดูหนาวปีนี้
โดยพายุหมุนขั้วโลกข้างต้น ก็เป็นลมหมุนที่ก่อตัวขึ้นในแถบขั้วโลกเหนือ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงมาทางใต้ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ อันได้แก่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นทวีปที่ตั้งของประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรป อันเป็นทวีปอีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก
เมื่อพายุหมุนขั้วโลกมาเยือนสหรัฐฯ เช่นนี้ ก็ทำให้ทาง “สำนักงานสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ” หรือ “เอ็นดับเบิลยูเอส (NWS : National Weather Service) ประกาศแจ้งเตือนถึงภัยหนาวให้ชาวอเมริกันต้องระมัดระวัง โดยระบุว่า พายุหมุนขั้วโลกที่พัดกระหน่ำสหรัฐฯ ในเวลานี้ จะก่อให้เกิดสภาพอากาศที่หนาวจัดอย่างชนิดสุดขั้ว และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือถึงขั้นคุกคามต่อชีวิตของประชาชนได้
พร้อมกับมีพยาการณ์อากาศในหลายพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน เช่น รัฐมอนตานา ซึ่งเป็นรัฐตอนเหนือมีพรมแดนติดกับประเทศแคนาดานั้น อุณหภูมิก็อาจจะลดลงจน “ติดลบ 42.7 องศาเซลเซียส (-42.7 องศาเซลเซียส)” และถ้าหากมีกระแสลมเข้ามาผสมโรง ก็อาจจะทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงไปอีกจนถึง “ติดลบ 51 องศาเซลเซียส (-51 องศาเซลเซียส) เลยทีเดียว
ด้วยสภาพอากาศที่ติดลบต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหลายสิบองศาเซลเซียสเช่นนี้ ก็แน่นอนว่าจะส่งผลให้หิมะตกลงมาอย่างหนัก รวมถึงสภาพที่เป็นน้ำแข็งเกาะตามสถานที่ต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท้องถนนที่ทั้งผู้คนและรถยนต์ชนิดต่างๆ สัญจร จึงมีคำเตือนจากทางการท้องถิ่น ให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ระมัดระวังกับสภาพถนนที่ลื่นเพราะมีทั้งหิมะและน้ำแข็งเกาะข้างต้น
มีรายงานว่า พบผู้ประสบภัย หรืออุบัติเหตุตามท้องถนนนับร้อยครั้งเลยทีเดียว
อาทิเช่น ที่รัฐมิชิแกน ทางตำรวจจราจร ระบุว่า เกิดอุบัติเหตุทางจราจรตามท้องถนนถึง 114 ครั้ง ในรอบ 24 ชั่วโมง
ส่วนที่รัฐโคโลราโด รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 8 ราย จากอุบัติเหตุจราจรหลังหิมะตกกระหน่ำลงมาเพียงชั่วไม่กี่ชั่วโมง
พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานเอ็นดับเบิลยูเอส ยังเตือนภัยหนาวและหิมะตกหนักในอีกหลายพื้นที่ ตั้งแต่รัฐโคโลราโด ไปจนถึงรัฐวอชิงตันทางฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยรัฐยูทาห์ ได้รับคำเตือนว่า จะหนักที่สุด
นอกจากหิมะตกหนักแล้ว ก็ยังเกิดมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่อย่างน่าสะพรึง เพราะได้เกิดดินโคลนถล่มตามมาในหลายพื้นที่อีกด้วย
โดยที่นับว่า หนักหนาสาหัสที่สุด ก็เห็นจะเป็นที่รัฐเคนทักกี ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ แถลงว่า ได้อนุมัติให้รัฐดังกล่าว สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ เพื่อที่จะนำไปสู่การออกมาตรการช่วยเหลือเป็นประการต่างๆ จากรัฐบาลกลาง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กำลังบังเกิดขึ้นในรัฐเคนทักกี
รายงานระบุว่า สถานการณ์มหาอุทกภัยในรัฐเคนทักกีนั้น ก็คร่าชีวิตผู้คนชาวรัฐไปแล้วอย่างน้อย 9 รายด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะติดอยู่ภายในรถที่กำลังถูกน้ำท่วมสูง ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ ปรากฏว่า มีกรณี หรือเคส (Case) ที่น่าเศร้าใจตามการเปิดเผยของทางการท้องถิ่นของรัฐฯ ที่ระบุว่า มีแม่ลูกคู่หนึ่งเสียชีวิตภายในรถที่ถูกน้ำท่วมสูง และลูกที่เสียชีวิตรายดังกล่าว ก็มีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น
เหตุน้ำท่วมใหญ่ในรัฐเคนทักกี ก็ยังทำให้มีประชาชนอีกกว่า 1,000 คน ต้องติดค้างอยู่ตามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ที่รอรับความช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วน
โดยเหตุน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัยที่บังเกิดขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐฯ นั้น ก็เป็นผลพวงของพายุที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องติดต่อมาเป็นเวลาหลายวัน นั่นเอง ซึ่งรัฐที่ผจญกับปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยสูงที่สุด ณ เวลานี้ ก็คือ รัฐเคนทักกี และรัฐเทนเนสซี โดยวัดปริมาณได้ถึง 15 เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังมีรัฐอื่นๆ ที่เผชิญน้ำท่วมหนักไม่บันเบาเช่นกัน ได้แก่ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย รัฐอาร์คันซอ ส่วนที่รัฐเวอร์จิเนีย ที่อยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐฯ นอกจากเผชิญกับน้ำท่วมหนักแล้ว ก็ยังประสบกับดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของรัฐอีกด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังเกิดพายุหมุนทอร์นาโด เช่น ที่รัฐแอละแบมา ในเขตเฮลเคาน์ตี และนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย รวมถึงเขตอัลเบมาร์ลเคาน์ตี รัฐเวอร์จิเนีย โดยแรงลมทำให้ต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหาย จนถึงขั้นพังถล่มลงมาก็มี โดยเฉพาะที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย จากการถูกต้นไม้หักโค่นลงมาทับ