"ตลาดนัดจตุจักร" ขีดเส้น 30 เม.ย.นี้ ขอคืนพื้นที่โครงการ 30 สร้างแลนด์มาร์กใหม่ เดินหน้าฟ้องผู้ค้าค้างค่าเช่าแผง
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.68 นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ประธานกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว การบริหารงานภายในตลาดนัดจตุจักร ในประเด็นความโปร่งใสในการบริหารจัดการ การยกเลิกสิทธิแผงค้าและค่าปรับ รวมถึงแนวทางการบริหารพื้นที่และการพัฒนาตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวโดยมีผู้บริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารตลาดนัดจตุจักร ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องปัญญพัฒน์ ชั้น 4 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
นายสุขสันต์ ชี้แจงว่า กรณีเก็บเงินค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรที่มีข้อสงสัยว่าตลาดนัดจตุจักรมีการรับเงินแล้วออกใบเสร็จรับเงินแผงค้าโครงการ 30 (แผงเขียว) และลานเร่ บริเวณหอนาฬิกาแต่ไม่นำรายได้เข้าระบบตั้งแต่ปี 2562 - 2566 ปีละหลายล้านบาทนั้น ขอชี้แจงว่าเมื่อตลาดนัดจตุจักรรับชำระเงินค่าเช่าแผงค้าแล้ว งานการคลัง ตลาดนัดจตุจักรจะออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ค้าและจะรวบรวมจำนวนเงินที่ได้รับชำระในแต่ละวันจัดทำข้อมูลรายได้ประจำวันเข้าระบบส่งให้กับฝ่ายการคลังสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร โดยบันทึกบัญชีรวมเป็นหัวข้อ รายได้จากแผงค้า ซึ่งมีการแจกแจงเป็นแต่ละโครงการระบุตามรหัสบัญชีโครงการ เช่น โครงการ 1-29 โครงการ 30 โครงการ 31 (แผงค้าต้นไม้) ฯลฯ
ส่วนของลานเร่ บริเวณหอนาฬิกา จะบันทึกบัญชีรวมอยู่ในหัวข้อ รายได้จากพื้นที่ว่าง เมื่อถึงสิ้นเดือน ฝ่ายการคลังสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จะบันทึกบัญชีรายได้ประจำเดือนเข้าระบบโดยระบุแต่เฉพาะหัวข้อ รายได้จากแผงค้า และ รายได้จากพื้นที่ว่าง เท่านั้น ซึ่งเมื่ออ่านโดยไม่ทราบรายละเอียดการบันทึกบัญชีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกันอยู่จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการทุจริตเงินรายได้ค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรดังกล่าว ทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบันทึกบัญชีระหว่างสองหน่วยงานสอบทานกันอยู่
สำหรับค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร แผงค้าถาวร ค่าเช่า 1,800 บาทต่อเดือน แผงเขียวค่าเช่า 1,400 บาทต่อเดือน และแผงค้าต้นไม้ 900 บาทต่อเดือน โดย กทม. ต้องจ่ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย 169 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 - 2565 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้มีประกาศฯ งดจัดเก็บค่าเช่า ลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าแผงค้าทุกสัญญาทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง และ ในปีงบประมาณ 2566 - 2567 มีการจัดเก็บรายได้เพิ่ม อาทิ ค่าบริหารส่วนกลาง ค่าทำเล ค่าใช้พื้นที่ว่างต่าง ๆ
นายสุขสันต์ กล่าวว่า การยกเลิกสิทธิแผงค้าเป็นไปตามสัญญา และค่าปรับกรณีจ่ายค่าเช่าล่าข้าที่ไม่ได้สูงเกินจริง แต่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจากกรณีที่มีการกล่าวว่า กทม. ประกาศยกเลิกสิทธิแผงค้าโครงการ 30 (แผงเขียว) ผู้ค้า 529 ราย บริเวณลานหอนาฬิกา โดยไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นธรรมและไม่มีช่องทางให้สามารถอุทธรณ์หรือชี้แจงได้นั้น กทม. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีความสวยงาม เหลือความกว้างเป็นทางเดินเพียง 9.0 เมตร จากเดิม 19.00 เมตรและทำให้ร้านค้ากึ่งถาวรที่เคยมีสภาพตั้งอยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบัง ระบายอากาศไม่ดี มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กทม.จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีความสวยงามเป็น Landmark ของนักท่องเที่ยวที่มาตลาดนัดจตุจักร ดึงคนให้เข้ามาสู่บริเวณลานหอนาฬิกาให้มากขึ้น โดยต้องสัญจรผ่านแผงค้าตามซอยแยกโครงการต่าง ๆ ที่ทำการค้าไม่ค่อยดี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้จึงได้ออกประกาศ เรื่องให้ผู้ค้าโครงการที่ 1 - 29 และ 31 มาจัดทำสัญญา ซึ่งหมายถึงจะไม่ต่ออายุสัญญาให้แผงค้าโครงการ 30 แต่ภายหลังสำนักงานตลาดได้ขยายเวลาให้สิทธิโครงการ 30 สามารถค้าขายได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ก่อนที่จะคืนพื้นที่ให้กับสำนักงานตลาดเพื่อให้ผู้ค้าได้มีโอกาสเตรียมรื้อย้ายและบรรเทาความเดือดร้อน สำนักงานตลาดได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ที่ไม่มีหนี้ค้างมาเลือกแผงค้าว่างที่มีอยู่ภายในตลาดนัดจตุจักรประมาณ 200 แผงค้า โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า 60,000 บาท แต่มีผู้ค้ามาเลือกเพียง 15 ราย โดยแผงค้าโครงการ 30 มีจำนวนทั้งหมด 529 แผงค้า ติดค้างค่าเช่าไม่ยอมชำระ 122 แผงค้า ซึ่งสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้บอกเลิกสัญญาและจะส่งเรื่องฟ้องร้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้แจ้งแนวทางในการเลือกขอรับสิทธิเช่าแผงค้าอื่นได้ (ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า) จึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น จึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี
ขณะที่ในส่วนค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้า ที่มีประเด็นกล่าวว่าอัตราสูงถึง 1,800% ต่อปีนั้น ในสัญญาที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 ที่กรุงเทพมหานครรับมอบพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมาบริหาร ระบุค่าปรับกรณีมีการชำระค่าเช่าล่าช้าในอัตราวันละ 5% ของค่าเช่ารายเดือน หรือเท่ากับวันละ 90 บาท ซึ่งคู่สัญญาคือผู้ค้าก็รับทราบแล้วในการทำสัญญาเช่าและมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าเช่าแผงค้าให้ตรงตามกำหนด มิใช่ปล่อยให้ค่าปรับเพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่สนใจมาชำระค่าเช่าเป็นระยะเวลานานจนยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูง
โดยที่ผ่านมามีผู้ค้าที่มีหนี้ค้างชำระพร้อมค่าปรับมากกว่า 1,585 แผงค้าได้มารับสภาพหนี้และยินยอมผ่อนชำระค่าปรับในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน จนปัจจุบันเหลือผู้ค้า จำนวน 207 แผงค้าที่ไม่ติดต่อชำระค่าเช่าพร้อมค่าปรับหรือยินยอมรับสภาพหนี้ (ส่วนใหญ่มาชำระค่าปรับ) สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครจึงได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและให้คืนแผงค้า พร้อมดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย
#ตลาดนัดจตุจักร #ข่าววันนี้ #แลนด์มาร์ก #ค่าเช่าแผง #สยามรัฐ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์