“นายกฯอิ๊งค์” เตรียมเก็งข้อสอบ “ศึกซักฟอก” มั่นใจไม่มีปัญหาตอบได้ ส่วน “ปธ.วิปฝ่ายค้าน” แย้มยื่นซักฟอก “10 รมต.”  ด้าน “เอกนัฏ” ยันจุดยืน "รทสช." แก้รธน.ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 -ทุจริต ทำประชามติกี่ครั้งให้ยึดคำวินิจฉัยศาลรธน. ขณะที่ “อนุทิน” ย้ำไม่ต้องเคลียร์ “นฤมล” ยันครอบครัวได้ที่ดินโดยสุจริต หากผิดพร้อมคืน ปัดเหน็บ “ธนดล”

ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 ก.พ.68 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจมั่นใจหรือไม่ ขุนพลที่ยืนอยู่ข้างๆ จะสอบผ่านว่า “โอ้โหคำถาม แน่นอนทุกกระทรวงมีการอัพเดทกันตลอด คิดว่าตอนนี้ไม่ว่า จะเป็นนโยบายใดๆ อาจต้องมีการผลักดันมากยิ่งขึ้น ก็ต้องผลักดันกันไป ทุกวันนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการที่จะผลักดันนโยบายออกไป คิดว่าทุกคนตอบตามระบบ ตอบตามกระบวนการ จริงๆ ที่ทำไม่น่ามีปัญหาอะไร 


เมื่อถามว่า นายกฯ ได้เก็งข้อสอบอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนต้องเก็งข้อสอบ จะให้เข้าไปตัวเปล่าได้อย่างไร เมื่อถามว่า คิดว่าจะโดนเรื่องอะไรเป็นหลัก นายกฯ กล่าวว่า “ไม่บอก เราจะไม่เฉลยข้อสอบก่อน”

ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ครั้งที่แล้วที่มีการประชุมกันได้ให้แต่ละพรรคไปร่างญัตติของตัวเอง  เพราะแต่ละพรรคอาจจะอภิปรายรัฐมนตรีแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ซึ่งข้อกล่าวหาและประเด็นที่จะอภิปรายก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งตนได้รับเนื้อหาของแต่ละพรรคเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการต่อไปพรรคประชาชนในฐานะพรรคแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็จะนำเนื้อหาแต่ละพรรคมารวบรวมกับพรรคประชาชนเพื่อให้เป็นญัตติเดียวกัน เพื่อที่จะลงชื่อร่วมกันอีกครั้ง ฉะนั้น ไทมไลน์ที่จะยื่นต่อประธานสภาฯได้คงจะเป็นภายในวันที่ 27 ก.พ. เหมือนเดิม

เมื่อถามว่า จำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายมีกี่คน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราคงไม่ยื่นทั้งคณะ คงไม่ไหวหากจะอภิปรายรัฐมนตรี 30 กว่าคน คงจะไม่เยอะขนาดนั้น แต่คาดไว้ 10 คน แต่ต้องรอดูรายชื่อที่ชัดเจนกว่านี้

เมื่อถามว่า หากมีการอภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับชั้น 14 อาจจะมีการตั้งวอร์รูมเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะถูกกล่าวหา แล้วจะแถลงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายหนึ่งจะตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหา ส่วนใครที่ถูกกล่าวหาและเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องชี้แจง ก็มีสิทธิ์ที่ชี้แจง ไม่ได้มีปัญหาอะไร


เมื่อถามว่า ที่เคยมีการแถลงว่าจะขออภิปราย 5 วัน แต่เหมือนทางรัฐบาลจะให้ได้แค่ 3 วัน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “เราเคยเป็นฝ่ายค้านมาด้วยกัน หากจะให้อภิปราย 2 วันแล้วลงมติอีก 1 วัน หากจะพูดแบบนี้ก็เหมือนกับคนไม่เคยเป็นสส. และรู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องมากกว่านั้น และทุกครั้งก็เป็น 4 วัน เป็นอย่างน้อยสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฝ่ายค้านก็ขอ 7 วัน พอตัวเองเป็นรัฐบาลบอกจะให้พูด 2 วัน ก็ตัดสินกันเองแล้วกันว่านี่เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยคงเป็น 4-5 วัน ตามที่ขอไป”

เมื่อถามว่าหากท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลให้ไม่ถึงตามที่ขอจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และคิดว่าาเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ประเทศที่ตรวจสอบถ่วงดุลด้วยระบบรัฐสภา เราควรจะเคารพกลไกนี้ คิดว่าคงไม่มีปัญหานอกจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลไม่เชื่อในกลไกตรวจสอบถ่วงดุล หรือพยายามที่จะปิดปากสภาไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล ตนเชื่อว่าอย่างไรก็จบลงด้วยดี

เมื่อถามว่า หากมีการอ้างเรื่องภารกิจของรัฐบาล เหมือนการมาตอบกระทู้สดจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้ว เขาไม่ติดภารกิจกันหรือ ซึ่งจริงๆผมได้ประสานไปล่วงหน้าแล้วว่าเป็นสัปดาห์ไหน หากเคลียร์ไม่ได้ ผมคิดว่าควรไปอ่านประชาธิปไตย 101 ใหม่ ว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เขาถ่วงดุลกันอย่างไร ทุกคนมีประสบการณ์หมดอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็อวดอ้างตัวเองเสมอ ว่ามีประสบการณ์มาก ก็คงรู้อยู่ว่าสิ่งใดเหมาะสม ไม่เหมาะสม”

ส่วน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อในญัตติเกิน 40 คน และจะขออนุมัติในที่ประชุม ส.ส.พรรควันนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นว่า รัฐสภามีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหรือไม่ โดยไม่ต้องทําประชามติก่อน ซึ่งแตกต่างจากญัตติที่ นพ.เปรมศักดิ์ ส.ว. เสนอ ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอให้ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระในวันพรุ่งนี้ (19 ก.พ.)

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมร่วม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเสนอเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน ต้องดูว่าที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การจัดส่งญัตติดังกล่าวไปให้ศาลได้นั้น ต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภา ตามข้อบังคับที่ 31

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้ญัตติของ น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว.นั้น เพื่อทำให้เห็นว่ามีความแตกต่าง ตัวของพรรคเพื่อไทยแตกต่างกันตรงที่ เราถามฟันธง แต่ของ น.พ.เปรมศักดิ์ ถามถึงอนาคตด้วย

เมื่อถามว่า หากสุดท้ายศาลไม่รับพิจารณาเหมือนตอนที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ จะต้องทำประชามติ 3 ครั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่มีทางอื่น แต่ก็ต้องดูว่าศาลไม่รับวินิจฉัยเพราะอะไร

เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ประธานรัฐสภาที่บรรจุร่าง และ ส.ส.ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีความผิดสำเร็จหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภา เพราะเราดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ คือ 1.เข้าชื่อถูกต้อง 2.เสนอแก้ไขมาตรา 256 3.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ รวมถึงไม่ได้ล้มล้างการปกครอง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้แนวทางอื่นเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาหํ่าหั่นกัน เรียกว่านิติสงคราม หรืออย่างที่ตนเคยพูดว่า หาเรื่องโดยใช่เหตุ อยู่ดีๆ เรามีอำนาจ ก็ชอบไปร้องกัน ติดนิสัยกันมา

เมื่อถามว่า หากศาลรับวินิจฉัยญัตติของพรรคเพื่อไทย และเป็นคุณ คิดว่าเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะหวังถึงขนาดไหน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนก็อยากให้เสร็จทั้งฉบับ เพื่อที่เราจะได้มีรัฐธรรมนูญใหม่เสียที หรือถ้าไม่ทัน ขั้นตํ่าที่สุดก็อยากให้มี ส.ส.ร.

ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค รทสช.ว่า วันนั้นเราได้ประกาศไปแล้ว และต้องดูเรื่องว่าทำอะไรอย่าให้ผิดกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปแล้ว ควรไปดูคำวินิจฉัยก่อนจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ในกรณีที่มีการแก้มาตรา 256 ทั้งนี้ พรรค รทสช. เราไม่เคยหาเสียงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นข้อตกลงของพรรครวมรัฐบาล ซึ่งพรรค รทสช.ยืนยันว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 กับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ จะแก้บางมาตรามาแก้หรือแก้เกือบทั้งหมดก็จะต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสม

เมื่อถามถึงจุดยืนจะทำประชามติกี่ครั้ง นายเอกนัฏ กล่าวว่า “ตามศาลสิครับ ทำไมจะต้องมาตีความ เพราะในรัฐธรรมนูญมีระบุเป็นรายลักษณ์อักษรชัด และเรื่องนี้ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว คิดว่าถ้ามีอะไรเปลี่ยนก็ส่งไปได้ เพราะคำวินิจฉัยผูกมัดทุกองค์กร”

เมื่อถามว่า จะต้องมีการเคลียร์กันก่อนในวันดินเนอร์พรรคร่วมหรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่คุยอย่างไรผลก็เหมือนเดิม เพราะคุยกันหลายรอบ ยืนยันกับพรรคร่วมทั้งหมดว่าจุดยืนของพรรค รทสช.เราเหมือนเดิม อีกทัังตอนนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. ก็มีภารกิจเยอะ ทั้งปรับค่าพลังงาน ลดค่าไฟ ส่วนของตนก็มีการปรับระบบอุตสาหกรรมใหม่ นี่คือภารกิจหลักของเราทั้งสองคน

ทางด้าน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ว่าขณะนี้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 2 เมื่อร่างกฎหมายที่เสร็จไปในเบื้องต้น ได้มีการพิจารณาในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้พิจารณาในวาระที่ 2 กันอยู่ และได้นำไปรับฟังความคิดเห็น จากประชาชนโดยทั่วไป ที่สามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ แล้วจะนำมาประกอบการพิจารณา ในวาระที่ 2 ต่อไป พร้อมยอมรับว่าในขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเร่งจัดทำ ร่างกฎหมายดังกล่าว และจะดำเนินการได้ทันภายในกรอบ 50 วันที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้

เมื่อถามถึงร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญ คือการป้องกันอบายมุข ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิมหรือไม่  นายปกรณ์ กล่าวว่า รายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยสาระสำคัญจะอยู่ในวาระแรกที่ดูในหลักการก่อน ว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง และจะต้องเติมเต็มในด้านใดบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยการจัดทำร่างขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเจ้าของร่าง และอำนาจซุปเปอร์บอร์ดยังคง หลักการเดิม แต่จะมีการใส่รายละเอียดใหม่ ในกระบวนการต่างๆ เช่น ใบอนุญาตต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องมีแผนการลงทุนต่างๆ

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอให้คนไทยมีเงิน 50 ล้านบาท จึงจะสามารถเข้าใช้บริการได้ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เป็นตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้น และยอมรับว่าไม่อยากให้ประชาชนไปหมกมุ่น อยู่กับเรื่องแบบนี้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้เอาเรื่องการพนันเป็นหลัก แต่เน้นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าใส่เรื่องนี้แน่นๆ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทย เล่นการพนันซึ่งเป็นสิ่งมอมเมาต่างๆเหล่านี้ได้ แต่ก็เข้าใจว่า นโยบายของรัฐบาลหลักก็คือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เน้นการพนัน ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามหลักการแล้ว จะมีอยู่ 2 เรื่อง ที่คล้ายกันอยู่คือ รับฟังความคิดเห็น กับเรื่องประชามติ

“การรับฟังความคิดเห็น จะนำไปประกอบการพิจารณา ของฝ่ายนโยบาย เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะดำเนินการต่อไปอย่างไร แตกต่างจากประชามติ โดยประชามติจะเป็นไปในลักษณะที่ว่า ถ้ามีความคิดเห็นอย่างไรก็ตกลงตามนั้น ดังนั้นต้องแยกกันให้ออก อย่านำไปปนกัน เพราะขณะนี้สังคมได้นำไปปนกันหมดแล้ว ทั้งเรื่องรับฟังความคิดเห็น และเรื่องประชามติ ดังนั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย และรัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และรัฐสภาที่จะพิจารณาตามรายละเอียด ว่าจะแก้ไข ตามที่เห็นสมควรอย่างไร”นายปกรณ์ กล่าว

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณี ถูกตรวจสอบที่ดินสนามกอล์ฟของครอบครัว ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของหน่วยราชการต่อหน่วยราชการ สื่อชอบไปเขียนว่าเป็นสนามกอล์ฟของตน ซึ่งไม่ใช่ เป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีคนในครอบครัวตนบริหารจัดการอยู่เท่านั้น ยืนยันว่าไม่ใช่สนามกอล์ฟของตน และได้ดำเนินการมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไร

เมื่อถามว่า จากเรื่องนี้คิดว่าการเมืองเปิดเกมเร็วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่เป็นไร สิ่งที่ตนยืนยันได้คือ ครอบครัวได้มาอย่างสุจริต ซึ่งขณะนั้น ที่ดินดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากโฉนด และ นส.3ก มีการไปโอนที่กรมที่ดิน และเสียค่าโอนถูกต้อง ทำเอ็มโอยูกับเจ้าของเก่า เพื่อเข้าไปขอใช้สถานที่ ทำขั้นตอนถูกต้องตามกฏหมาย
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการก