นายกฯ นำถกครม.สัญจรปักษ์ใต้ ไฟเขียวอนุมัติเงินฟื้นฟูน้ำท่วม 3 จว.ชายแดนใต้ 304 ล้าน ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 300 ล้านพร้อมอนุมัติตาม กรอ. เสนอ 300 ล้าน ปลื้มทิศทางจีดีพี ขยายตัว 3.2 % พร้อมสั่ง “ก.อุตฯ-คลัง-พาณิชย์”เร่งหามาตรการป้องกันสินค้าสวมสิทธิ์ไทย ส่วน “คลัง”เดินหน้าอัดมาตรการกระตุ้น ศก.ดันจีดีพีปี 68 โต 3% 


ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 18 ก.พ.68  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) นอกสถานที่ว่า ที่ประชุม ได้เห็นชอบตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ ได้เสนอให้พิจารณาในโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแชมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ครอบคลุมคันกั้นน้ำ ถนน เขื่อนป้อง กันตลิ่งและระบบระบายน้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดนจังหวัดยะลา นราธิวาสและ ปัตตานี เมื่อเดือนพ.ย.- ธ.ค.2568 จำนวน 22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304.80 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง) จำนวน 23 โครงการ กรอบวงเงินรวม 300 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการของโครงการ ของคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรร งบกลางจากปี 68 ซึ่งส่วนมากจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกำจัดวัชพืชในทะเลน้อย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ


นายกฯ กล่าวต่อว่า ครม.ยังอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม และการขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 68 งบกลางเพิ่มเติมจำนวนเงิน 3,653.72 ล้านบาท ตลอดจนอนุมัติพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่จ.ระนอง 


น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่าจากการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสสี่ของปี 2567 เติบโตขึ้นเกือบทุกมิติ แต่ภาคลงทุนของเอกชนหดตัว ปัจจัยที่สำคัญเช่นเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนมากมีถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อน้อย การปล่อยสินเชื่อจะช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างมาก เพราะระยะเวลาเป็น 10 ปีการพัฒนาธุรกิจต่างๆของภาคเอกชนรถน้อยลง บางอุตสาหกรรมที่เก่าไปแล้ว ไม่ได้รับเงินสินเชื่อในการพัฒนา ภาครัฐพยายามทำทุกเรื่อง เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะอย่างตอนนี้เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน ขอให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.การคลัง ที่ดูเรื่องของการคลัง ประสานการทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทุกส่วนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทำอยู่ฝั่งเดียวไม่ได้ต้องช่วยกัน


เมื่อถามว่า รัฐบาลตั้งเป้าจีดีพีปี 68 รัฐบาล 3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังค มแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจะได้เพียง 2.8 เปอร์เซ็นต์ จะทำอย่างไรเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สิ่งที่พูดไปเรื่องของสินเชื่อ รัฐบาลต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมมือกัน รัฐบาลพยามกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง ตอนนี้จะเห็นว่าเอกชนที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ธุรกิจของเขาไม่ได้ถูกพัฒนา มีปัญหาเรื่องสินเชื่อ ทำให้สถานที่ไม่ถูกพัฒนา ซึ่งจากการลงพื้นที่มีอีกหลายที่ที่มีศักยภาพ  เราเน้นย้ำเสมอว่า การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เมืองหลัก เมืองรองก็สำคัญเช่นกัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อ นอกจากพัฒนาในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายแล้ว ภาคเอกชนต้องดูด้วยว่า การจะลงทุนเพิ่มในระบบทำอย่างไรได้บ้างก็ต้องย้อนกลับมาเรื่องการเงินที่ต้องทำเรื่องสินเชื่อ 


เมื่อถามว่า จีดีพีของเรายังรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน มาตรการที่วางไว้จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยับขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ตั้งเป้าไว้ 3 เปอร์เซ็นต์และพยายามดันให้ไป 3.5 เปอร์เซ็นต์ เราจะพยายามตั้งเป้าให้มากกว่านั้น เรามั่นใจว่าในเดือนที่เหลือของปีนี้ เราจะผลักดันอย่างเต็มที่ และรวมถึงการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน


ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่าจะโตได้ 2.3-3.3% ว่า ปีนี้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% และพยายามทำให้ถึง 3.5% ซึ่งในปี 68 รัฐบาลยังมีการขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การกระตุ้นผ่านโครงการเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดไป รวมไปถึงโครงการ Easy E-Receipt ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้น