นักวิชาการธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อการสร้าง “บำนาญ-สวัสดิการผู้สูงอายุ” หลัง "ร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน" ถูกตีตกอย่างน้อย 3 ฉบับ ยืนยันจากผลการศึกษา-ข้อมูลวิชาการ ชี้ชัดว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าสร้างความยั่งยืน มีแหล่งที่มางบประมาณ-แนวทางบริหารจัดการ ขาดแค่เจตจำนงทางการเมืองสนับสนุน ระบุท่าทีดังกล่าวสะท้อนว่าสนใจแค่นโยบายประชานิยมระยะสั้น หรืออาจกระทบผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่

จากประเด็นที่มีการนำเสนอสถานะของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการมีบำนาญประชาชนอย่างน้อย 3 ฉบับ จากทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ 2. ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฯ เสนอโดย นายเซีย จำปาทอง และ 3. ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เสนอโดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ มีสถานะที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้รับรอง ในขณะที่ 4. ร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ล่าสุดที่เสนอโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นสถานะเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเงิน และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีโอกาสถูกตีตกด้วยเช่นกัน

ผศ. ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในนักวิชาการที่ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพและการสร้างความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามจากสังคมไปถึงรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายถึงเจตจำนงทางการเมืองว่า รัฐบาลอยากเห็นการคุ้มครองทางสังคมเกิดขึ้นจริงกับประชาชนหรือไม่ หรือรัฐบาลกำลังเกรงว่าหากมีการเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ จากร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการมีบำนาญของประชาชน แล้วจะไปกระทบกับผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ หรือไม่ จึงไม่ดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนสวัสดิการให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาควิชาการ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เป็นมันสมองของประเทศ ต่างเห็นร่วมกันว่าประเทศไทยควรมีสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุได้แล้ว พร้อมทั้งมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน ทั้งยังระบุถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ และมีแนวทางการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพียงแต่ยังไม่เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากระดับนโยบาย

“แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันจากทุกภาคส่วนให้เกิดการคุ้มครองความยากจนแก่ประชาชนในรูปของการมีกฎหมาย ซึ่งเป็นฐานรากความมั่นคงในการดำรงชีวิตของประชาชนไทยในระยะยาว แต่การผลักดันดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ที่อาจมุ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำนโยบายประชานิยมระยะสั้นมากกว่า โดยเฉพาะการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการต่างๆ ทั้งที่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเสนอหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า ไม่คุ้มค่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น และช่วยประชาชนประคองชีวิตในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่รัฐบาลควรหันมาใส่ใจกับการทำนโยบายที่ช่วยวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศมากกว่า” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว

ผศ. ดร.ทีปกร กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการประเด็นหลักต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายที่จะสนใจ ใส่ใจ หรือมีเจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เพราะเรื่องสวัสดิการสังคมจะเกี่ยวข้องกับการจัดการในหลายด้าน ทั้งการปฏิรูปภาษี การบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของประเทศ ทั้งหมดล้วนมีเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากไปแตะต้องหรือปรับเปลี่ยน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เดิม และเป็นประเด็นที่รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจเลือกความสำคัญ

ผศ. ดร.ทีปกร กล่าวอีกว่า เป้าหมายพื้นฐานของสวัสดิการสังคมเป็นไปเพื่อคุ้มครองความยากจน ซึ่งจากการคำนวณของภาควิชาการพบว่า ระดับการคุ้มครองความยากจนของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด เพื่อให้พ้นจากความยากจนได้ในผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับเส้นแบ่งความยากจนที่กำหนดเอาไว้ที่ 3,000 บาท รัฐบาลควรจัดสวัสดิการให้ไม่น้อยกว่าคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอในเบื้องต้นสำหรับการดำรงชีวิต โดยในส่วนรูปแบบการบริหารจัดการ รวมถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ ก็มีรายงานผลการศึกษามารองรับแล้ว ทั้งในส่วนของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รวมถึงยังมีรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่มีข้อมูลและการศึกษาแนวทางการปฏิรูปภาษี เพื่อหาแหล่งเงินงบประมาณสำหรับการจัดทำสวัสดิการผู้สูงอายุเอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้สร้างนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้

ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญนอกไปจากสวัสดิการสังคมที่เป็นบำนาญ ซึ่งจะเป็นรากฐานการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว รัฐบาลยังควรออกแบบกลไกและระบบการออมเงินสำหรับประชาชนในประเทศ ที่เอื้อให้เกิดการวางแผนทางการเงินของประชาชนสำหรับเกษียณ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมเงินเหมือนกับที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการ

“เรื่องของสวัสดิการบำนาญผู้สูงอายุในประเทศไทย ขณะนี้เรามีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจทางการเมืองสนใจจะทำหรือไม่ หรือมุ่งมาที่การทำธุรกิจการเมืองอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องของสวัสดิการทางสังคมที่เป็นความมั่นคงในระยะยาวของประชาชน” ผศ.ดร.ทีปกร กล่าว