การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กลายเป็นโดมิโน เอฟเฟค ตามมาด้วยอาร์เจนตินา ที่เพิ่งประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกเช่นกัน ปรากฎการณ์นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปองค์กร เพื่อให้ประชาคมโลกได้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลกที่มีความท้าทายมากขึ้น และหนึ่งในประเด็นที่ต้องการการปฏิรูปอย่างยิ่ง คือ การควบคุมยาสูบ
กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) เป็นสนธิสัญญาสาธารณสุขระดับโลกฉบับแรกและฉบับเดียว ที่มุ่งเป้าไปที่การลดการเสียชีวิตและโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ ซึ่งประเทศที่ลงนามรับรองพันธสัญญาว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ การห้ามโฆษณายาสูบ และการจัดให้มีโครงการเลิกบุหรี่
อย่างไรก็ตาม FCTC ดำเนินการไปอย่างล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดอัตราการบริโภคยาสูบให้เหลือ 30% ภายในปี 2025 ซึ่งก็คือปีนี้ แต่จนถึงปัจจุบัน การใช้ยาสูบก็ยังคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 8 ล้านคนในแต่ละปี แม้การสูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ อุตสาหกรรมยาสูบยังคงถูกมองว่าแทรกแซงความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการตาม FCTC แต่องค์การอนามัยโลกกลับไม่มีการสำรวจและทบทวนถึงแนวทางในการลดอัตราการบริโภคยาสูบที่ผ่านมาว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
องค์การอนามัยโลกที่ได้รับการปฏิรูปแล้วจึงน่าจะมีความพร้อมที่ดีกว่าในการรับมือกับความท้าทายของการควบคุมยาสูบ โดยจะมีอำนาจและทรัพยากรในการทำให้ประเทศต่างๆ รับผิดชอบต่อการดำเนินการตาม FCTC ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศต่างๆ ในความพยายามลดการใช้ยาสูบ ต่อต้านการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบในนโยบายสาธารณสุข ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพบนหลักฐานเชิงประจักษ์
นอกเหนือจากการควบคุมยาสูบแล้ว องค์การอนามัยโลกที่ได้รับการปฏิรูปแล้วจะสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลกอื่นๆ ได้ดีขึ้น เช่นการระบาดใหญ่ของโรคสายพันธุ์ใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดื้อยาต้านจุลชีพ รวมทั้งโรคไม่ติดต่ออื่นๆ
ความจำเป็นในการปฏิรูปองค์การอนามัยโลกให้มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และตอบสนองต่อความต้องการของรัฐสมาชิกมากขึ้น ก็เพื่อสร้างบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นในการประสานงานความพยายามด้านสุขภาพระดับโลกของแต่ละประเทศ และทำให้มั่นใจได้ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาคมทุกกลุ่ม มากกว่าที่จะขับเคลื่อนด้วยอุดมคติและงบประมาณจากบางประเทศหรือ NGO บางกลุ่มเท่านั้น
และถือเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมประเทศภาคีสมาชิก WHO FCTC หรือ Conference of Parties ครั้งที่ 11 (COP11) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกและจะมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุม
ที่ผ่านมา การประชุมของ FCTC COP นั้น ประชาชนคนไทยกลับไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการแสดงความคิดเห็น หรือมั่นใจได้ว่าผู้แทนจากประเทศไทยจะได้นำเสนอสิ่งที่เป็นฉันทามติหรือเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร ต่างจากการประชุม COP ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสิ้นเชิง
ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประชาคมโลกจะได้ใช้โอกาสนี้ ปฏิรูปองค์กรและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการทำงานร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างองค์การอนามัยโลกที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในศตวรรษนี้