วันที่ 18 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการติดตามการใช้งบประมาณกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้ งบประมาณกันเงินไว้เหลื่อมปี 67-68 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ หน่วยงานที่รับงบฯ ที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน 22 หน่วยงาน รวม 67 โครงการ เป็นเงินกว่า 1,218 ล้านบาท

กลุ่มที่สองคือ หน่วยงานที่รับงบฯ ที่ก่อหนี้ผูกพันแล้ว เป็นเงินกว่า 1,353 ล้านบาท จากการติดตามพบว่า ยังเบิกจ่ายได้ไม่ครบตามจำนวน เนื่องจากบางหน่วยงานได้ผู้รับจ้างแล้ว มีการทำสัญญาและตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกเงินได้ สาเหตุสำคัญคือบริษัทผู้รับจ้างไม่ดำเนินการตามกำหนดสัญญา ซึ่งตามหลักเกณฑ์ผู้รับจ้างสามารถขอขยายสัญญาจากผู้มีอำนาจจัดจ้างได้ แต่หากไม่มีการยื่นขอขยายสัญญาก็ไม่สามารถเบิกเงินได้

ดังนั้น จึงกำชับให้หน่วยงานทั้งสำนักงานเขตและสำนักต่าง ๆ ที่ยังเบิกจ่ายได้ไม่ครบเร่งดำเนินการตามกรอบอำนาจและเกณฑ์กำหนด เช่น การขยายสัญญาภายใต้เงื่อนไขการกำหนดขอบเขตอนุมัติจำนวนเงินตามตำแหน่งหน้าที่ ประกอบด้วย 1.วงเงินสูงกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป อำนาจผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ว่าฯกทม.มอบอำนาจให้รองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้ลงนามอนุมัติ 2.วงเงินเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท อำนาจปลัดกทม.หรือรองปลัดกทม. 3.วงเงิน 50-100 ล้านบาท อำนาจผู้อำนวยการสำนัก 4.วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท อำนาจรองผู้อำนวยการสำนัก 5.วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท อำนาจผู้อำนวยการสำนักงานเขต

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 กลุ่ม ต้องเร่งจัดซื้อจัดจ้างหรือก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้ครบตามกำหนดภายในเดือน ก.ย.68 (ไม่เกินปีงบประมาณถัดไป) หากดำเนินการไม่ทัน งบประมาณที่เบิกกันเงินไว้เหลื่อมปี 67-68 จะตกเป็นเงินสะสมของ กทม. ทำให้ กทม.เกิดภาระหนี้ ต้องนำเงินงบประมาณปี 69 มาจ่ายทดแทนเงินที่ตกไป และเมื่อถึงปีงบประมาณ 69 กทม.ต้องแบ่งเงินมาจ่ายภาระหนี้ย้อนหลังดังกล่าว ซึ่งการนำเงินในอนาคตมาใช้ จะทำให้ กทม.เสียโอกาสนำเงินงบประมาณในแต่ละปีไปใช้ในโครงการต่าง ๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย