เรียกเสียงฮือฮา พร้อมกับสร้างกังขาให้แก่ใครต่อใครมิใช่น้อย
สำหรับ ตัวแทนจากสำนักงานการท่องเที่ยว หรือบริษัทนำเที่ยว ชาติตะวันตก 2 แห่ง เดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ เจ้าของฉายาว่า โสมแดง หรือที่ใครหลายๆ คน เรียกในเชิงกระทบกระเทียบเปรียบเปรยว่า “ดินแดนฤาษีแห่งเอเชียบูรพา” อันหมายถึงความโดดเดี่ยวที่แทบจะไม่คบค้าสมาคมกับประเทศใดๆ
การเดินทางข้ามพรมแดนข้างต้น ก็มีขึ้นเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ถ้าจะกล่าวไป ก็ต้องถือว่า เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของสำนักงานการท่องเที่ยวชาติตะวันตกทั้ง 2 แห่งข้างต้น เดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ ขณะที่ เกาหลีเหนือก็ตอบรับการเดินทางเข้ามาอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 เมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือ ปิดประเทศ มิให้ต่างชาติเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ แม้กระทั่ง นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และรัสเซีย ที่เป็นชาติพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้างต้น ที่อาจจะมีบ้างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าไปในเกาหลีเหนือ แต่นั่น! ก็เป็นการลักลอบข้ามพรมแดนเดินทางกันเข้าไป มิใช่เดินทางเข้าไปอย่างเป็นทางการในลักษณะเยี่ยงนี้
เรียกได้ว่า ในช่วงเวลานั้น เกาหลีเหนือ ประพฤติตัวปฏิบัติตนเสียยิ่งกว่าเป็นฤาษี ตามคำเรียกเชิงกระทบกระเทียบ นั่นคือ โดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งกว่าในเวลาปกติทั่วไป ที่เกาหลีเหนือ ก็แทบจะไม่คบค้าสมาคมกับใครเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แน่นอนว่า เมื่อกั้นพรมแดนปิดประเทศ ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ ที่เดิมก็มีรายได้เข้าประเทศน้อยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเลวร้ายหนักกว่าเก่า
ส่วนตัวแทนของสำนักงานการท่องเที่ยวต่างชาติที่ตบเท้าข้ามพรมแดนเข้าไปยังเกาหลีเหนือ แบบเปิดประเดิมเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ก็คือ “โครยอทัวร์ส (Koryo Tours” และ “ยัง ไพโอเนียร์ ทัวร์ส (Young Pioneer Tours)”
โดย “โครยอทัวร์ส” ก็เป็นบริษัททัวร์ หรือนำเที่ยว แบบอิสระสัญชาติอังกฤษ แต่มีฐานอยู่ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ซึ่งชื่อ “โครยอ (Koryo)” ก็เป็นการนำชื่อราชวงศ์ของอาณาจักรเกาหลีโบราณ มาตั้งเป็นชื่อบริษัท
ทั้งนี้ บริษัท “โครยอทัวร์ส” ข้างต้น ถือว่าเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือ ทั้งในการท่องเที่ยวแบบกลุ่ม และแบบส่วนตัว โดยบริษัท ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1993 (พ.ศ. 2536)
ส่วน “ยัง ไพโอเนียร์ ทัวร์ส” เป็นบริษัทนำเที่ยวสัญชาตินิวซีแลนด์ ดำเนินกิจการนำเที่ยวในเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551)
โดย “ยัง ไพโอเนียร์ ทัวร์” บริษัทนำเที่ยวสัญชาติแดนกีวี นิวซีแลนด์แห่งนี้นั้น เคยเป็นผู้เปิดศักราชการท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือได้อย่างปลอดภัยจากกระแสการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา เมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การนำเที่ยวของสองบริษัทข้างต้น ก็มีจุดหมายปลายทางในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครยอ ทัวร์ส” ถึงขั้นมีการกำหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักในกรุงเปียงยางได้ด้วย มิใช่ว่า ได้เฉพาะเดินเที่ยวในเมืองหลวงของเกาหลีเหนือได้ แต่ต้องออกไปเข้าพักนอกกรุงเปียงยาง ทว่า ในการท่องเที่ยวประเทศเกาหลีเหนือ ที่รัฐบาลเปียงยาง จะหวนกลับมาเปิดพรมแดนให้เหล่านักท่องเที่ยว ตะลอนภายในประเทศของพวกเขานั้น ก็จะเป็นในพื้นที่ห่างไกล ชนิดปลายแดนประเทศกันเลยก็ว่าได้
นั่นคือ “เมืองราซ็อน (Rason)” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ราจิน” บ้าง หรือ “นาจิน” บ้าง
โดยเมืองแห่งนี้ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ มีพรมแดนอยู่ติดกับเมืองวลาดิวอสตอค ของรัสเซีย และอยู่ริมฝั่งของทะเลญี่ปุ่น
ความสำคัญของเมืองราซ็อน ทางการเกาหลีเหนือ ภายใต้การของประธาน “คิม จอง-อึน” ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ก็หวังจะให้เมืองปลายแดนอันห่างไกลจากกรุงเปียงยางอย่างชนิดคนละฟากฝั่งแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ
ดังนั้น รัฐบาลเปียงยาง ได้ดำเนินการบริหารพัฒนา และมีนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งแม้ว่าเมืองราซ็อนแห่งนี้ มีพรมแดนติดกับรัสเซีย แต่ปรากฏว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ ที่นำเม็ดเงินมาหว่านลงทุน กลับกลายเป็นจีน ที่เป็นนักทลงทุนรายใหญ่ ทั้งในส่วนของนักลงทุนจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่ และนักลงทุนจีนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน
โดยนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงุทนด้านท่าเรือ ขณะที่ นักลงทุนจากฮ่องกง ได้ระดมเม็ดเงินลงทุนไปในด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์
ทั้งนี้ จากการความใกล้ชิดระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือข้างต้น ก็มีการจับมือเป็นพันธมิตรในลักษณะเมืองพี่เมืองน้องระหว่างกัน นั่นคือ เมืองราซ็อนของเกาหลีเหนือ กับเมืองฮุนชุน มณฑลจี๋หลิน ของจีนแผ่นดินใหญ่
หากการกลับมาเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ถ้าเป็นไปได้จริง ก็คาดการณ์กันว่า ทางรัฐบาลเปียงยาง หมายมั่นปั้นมือว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังเกาหลีเหนือ รวมถึงเมืองราซ็อนแห่งนี้ ให้คึกคักเฉกเช่นเมื่อก่อนการเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยมีตัวเลขของการท่องเที่ยวเมื่อช่วงปี 2019 (พ.ศ. 2562) ว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติข้ามพรมแดนมาเที่ยวเกาหลีเหนือไม่น้อยกว่า 125,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนถึง 120,000 คน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวจากบรรดาชาติตะวันตก ซึ่งในครั้งนั้น ทำเงินให้แก่เกาหลีเหนือหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การที่เกาหลีเหนือจะหวนกลับมาเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้งนั้น บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า มิใช่เรื่องง่ายจากเหตุปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะปะทุกลายเป็นสู้รบกับประเทศคู่ปรปักษ์ และกระบวนยุติธรรมของเกาหลีเหนือเองที่นักท่องเที่ยวอาจจะกลายสภาพเป็นนักโทษข้อหาสายลับได้ง่ายๆ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่แม้กระทั่งตู้เอทีเอ็มเพื่อกดเงินออกมาใช้ในเกาหลีเหนือ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก หรือแทบจะไม่มีเลย