วันที่ 17 ก.พ.68 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร เรียกร้องให้ชี้แจงการบริหารงานภายในตลาดนัดจตุจักรว่า ปัจจุบันมีแผงค้าในตลาดนัดจตุจักรหมื่นกว่าแผง มีแผงค้าประมาณพันกว่าแผงที่ไม่พอใจการบริหารงาน กทม.ให้สัญญาเช่าแผงค้าปีต่อปี ไม่ได้ให้สัญญาเช่าแผงตลอดชีวิต ดังนั้นจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องทั้งหมดที่ผู้ค้ามีข้อกังวล ทั้งเรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าแผงค้า เรื่องความโปร่งใสการลงบัญชีรายรับ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารตลาดได้ชี้แจงไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครกล้าทุจริตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการออกใบเสร็จที่ผู้ค้าตั้งข้อสังเกตการออกใบเสร็จด้วยลายมือ ถ้าพบการทุจริตจะเอาผิดให้หนักที่สุด

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า กทม.อยากโอนความรับผิดชอบการบริหารตลาดนัดจตุจักรคืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่รัฐบาลได้มอบหมายให้กทม. บริหารตลาดนัดจตุจักร ซึ่งกทม.ตกลงให้ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรจ่ายค่าเช่าแผงค้า ตามขนาดแผงค้า ตั้งแต่ 900-2,400 บาทต่อเดือนเท่านั้น เป็นค่าเช่าแผงค้าที่ถูกมาก แต่ที่ผู้ค้าต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกหลายรายการนั้น ตนไม่ทราบมีการไปจ่ายต่อกันเองหรือไม่ ถ้าผู้ค้าไม่พอใจ สามารถคืนแผงค้าได้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ค้ารายใดมาคืนแผงค้าเลย ยืนยันทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะนี้ตลาดนัดจตุจักร อยู่ในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์ พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์ พาวเวอร์แห่งชาติ โดย กทม. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดจตุจักร และบริเวณพื้นที่โดยรอบ เป็น Thailand Soft Power Gateway เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวสูงสุด กว่า 300,000 คนต่อวัน มีสินค้าที่ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เริ่มจากการเปิดร้านในตลาดจตุจักร ตลาดจตุจักรจึงเป็นตลาดนัดที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็น Thailand Soft Power Gateway ตลอดจนเสนอเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมีนพ.สุรพงษ์ เป็นประธาน และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และนายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นรองประธาน มีอนุกรรมการ เช่น ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาตลาดจตุจักรอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านนายศานนท์ กล่าวว่า ตลาดนัดจตุจักรมีพื้นที่ทั้งหมด 68 ไร่ และมีผู้ค้าอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นแผง โดยมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาตลาดนัดจตุจักรสูงสุด 300,000 คน และน้อยที่สุด 80,000 คนต่อวัน จะเห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีศักยภาพสูงในแง่ของแหล่งท่องเที่ยว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของที่ดิน เนื่องจากที่ดินของตลาดนัดจตุจักรเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ดังนั้นหากจะมีการปรับปรุง ลงทุนพัฒนา ต้องขออนุญาต รฟท. ก่อน ส่งผลให้ความคล่องตัวและความสะดวกในการพัฒนานั้นมีน้อย และจะมีการปรึกษาหารือว่าควรมีซอฟต์ พาวเวอร์แพลตฟอร์มที่รวบรวมซอฟต์ พาวเวอร์ในทุกด้านให้มีพื้นที่ในการจัดแสดง เพราะตลาดนัดจตุจักรเป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ แฟชั่น ศิลปะ หัตถกรรม อาหาร ดนตรี จึงเป็นพื้นที่แรกที่เลือกจะพัฒนา