มก. เปิดงานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์ ประจำปี 2568 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถ่ายภาพบรรยากาศและชมความสวยงามของถนนสีชมพู เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 13 – 20 กุมภาพันธ์ 2568 นี้

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.68 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดพิธีเปิด "เทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์" ประจำปี 2568 ณ บริเวณถนนวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ หน้าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดย ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และได้รับเกียรติจาก นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ หัวหน้าส่วนราชการกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมตัดริบบิ้นเปิดงานเป็นจำนวนมาก โอกาสนี้ นายมานิจ สุขีวงศ์ ผู้ปลูกและดูแลรักษาต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาและแนวคิดในการปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ และนางสาวนันทนัช อนันทาวุฒิ ผู้อำนวยการกองบริการกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้กล่าวถึงการจัดงานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์และการคาดการณ์การออกดอกและการบานของชมพูพันธุ์ทิพย์ จากนั้นร่วมเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ต่างๆภายในวิทยาเขตกำแพงแสน ได้แก่ อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ iGEAR cafe' & innovation สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และฟาร์มนิสิตคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ 

การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย การเผยแพร่ความงามทางธรรมชาติของแนวต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนสำหรับต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หรือตาเบบูญ่า (Pink Trumpet) บนถนนชมพูพันธุ์ทิพย์ที่สวยงามและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศในขณะนี้นั้น มาจากวิสัยทัศน์ของ ศ.ระพี สาคริก อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่ 7 และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสนคนแรก ซึ่งมีนโยบายเรื่องการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อบังลม และเพื่อความร่มรื่นสวยงาม จึงกำหนดให้ปลูกต้นไม้ใหญ่สองฟากถนนสายที่1 ตามแนวขวางตะวัน เพื่อให้ร่มเงาแก่ถนน ซึ่งได้รับอนุเคราะห์กิ่งพันธุ์ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea Dc.) มาจากประเทศสิงคโปร์ ศ.เกียรติคุณ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ ซึ่งเป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสนขณะนั้น ได้มอบหมายให้ อ.สุขุม ลิมังกูล , อ.เสรี ทรัพย์สาร และ อ.มนัส กัมพุกุล จากคณะเกษตร และ นาย มานิจ สุขขีวงศ์ ดำเนินการปลูกในปี พ.ศ. 2520 ตั้งแต่ประตูชลประทาน ผ่านหน้าโรงเรียนสาธิตฯ ไปสุดท้ายด้านหลังแปลงปลูกอ้อยของภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร บนระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร (จากบทสัมภาษณ์ ของ ศ.เกียรติคุณ ดร.วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ )

หลังจากนั้นวิทยาเขตกำแพงแสนได้ปลูกเพิ่มเติมจนครบแนวถนน ระยะทาง 4 กม. ทำให้ในปัจจุบันมีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์บนถนนวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ นี้ จำนวนกว่า 580 ต้น และปัจจุบันวิทยาเขตกำแพงแสนมีชมพูพันธุ์ทิพย์ จำนวนกว่า1,258 ต้น โดยปลูกสองข้างทางถนนสายวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ (ถนนสาย 1) จำนวน 580 ต้น พื้นที่สวน 100 ปี จำนวน 77 ต้นสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 12 ต้น สระพระพิรุณ จำนวน 98 ต้น พื้นที่ด้านหน้าสวนปรง จำนวน 90 ต้น พื้นที่บริเวณบ่อ 6 จำนวน 165 ต้น และ บริเวณข้างถนนดินขอบบ่อ 6 ถึงบริเวณที่พักอาศัยข้าราชการ จำนวน 236 ต้น

ที่มาของ รุกขมรดกของแผ่นดิน ประจำปี 2562 กลุ่มต้นชมพูพันธุ์ทิพย์บริเวณถนนวัฒนาเสถียรสวัสดิ์ จำนวน 352 ต้น บนถนนวัฒนาเสถียรสวัสดิ์แห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น รุกขมรดกของแผ่นดิน ประจำปี 2562 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงอยู่กับระบบนิวเศน์ต่อไป

ซึ่งการคัดเลือกรุกขมรดกและขึ้นทะเบียนโดยกระทรวงวัฒนธรรม จะต้อง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่และมีอายุยาวนาน โดยมีคุณสมบัติสำคัญอยู่ในเกณฑ์ ก็คือ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญต่อชุมชน อยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมหรือสถานที่สำคัญต่าง ๆ เป็นต้นไม้หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยได้รับการดูแลที่ดี

นางสาวนันทนัช อนันทาวุฒิ ผู้อำนวยการกองบริการกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงการจัดงานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์ ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2554 โดยเรียกว่า pinky road ต่อมาในปี 2559 ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย จึงเป็นปีแรก ที่ได้จัดงานเทศกาลชมพูพันธุ์ทิพย์บานสะพรั่ง ที่กำแพงแสน ครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจังหวัดนครปฐม อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามนโยบาย มหาวิทยาลัยสีเขียว Green University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย ซึ่งในในปี 2559 นี้เอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้บรรจุอุโมงค์ชมพูพันธุ์ทิพย์ ถนนวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ แห่งนี้ ไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกด้วย

สำหรับที่มาของการคาดการณ์การบานของดอก ชมพูพันธุ์ทิพย์ นั้น ในปี 2560 เป็นปีที่ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ มีการออกดอกล่าช้ามาถึงเดือนเมษายน หลายๆคนเฝ้าติดตาม จึงเป็นที่สนใจ ว่าทำไมปีนี้ถึงออกดอกล่าช้ากว่าทุกปี นักวิจัยจึงเข้ามาดำเนินการวิจัยเพื่อคาดการณ์วันบาน เพื่อเป็นแผนการจัดกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น และเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ จึงเกิดการคาดการณ์การบานของดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ขึ้นในปี 2560 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้มีเพียงขั้นตอนการศึกษาและรวบรวมข้อมูล ยังมิได้คาดการณ์การบานของดอกไว้

นางสาวนันทนัช อนันทาวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปกติชมพูพันธุ์ทิพย์จะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึง มีนาคม ของทุกปี จะบานเร็วหรือช้านั้น ขึ้นกับฝนสุดท้ายของฤดูกาล หากฝนหยุดตกเร็วในช่วงเดือนตุลาคม ชมพูพันธุ์ทิพย์จะออกดอกให้เห็นในเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ หากฝนหยุดตกช้า ช่วงการบานของดอกก็จะล่าช้าออกไป อาจจะเห็นการบานของดอกในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน และคำถามที่มักจะสอบถามกันว่าจะบานกี่รอบนั้น ในแต่ละปี จะเห็นว่ามีการออกดอก บางปีมากกว่า 1 รอบ อาจจะเป็น 2 หรือ 3 รอบ เป็นเพราะในแต่ละต้นมีการพัฒนาตาดอกที่ไม่พร้อมกัน จึงเห็นว่า ออกหลายรอบ หากพัฒนาพร้อมกัน จะเห็นในลักษณะสวยสะพรั่ง ทั้งต้น ทิ้งใบทั้งหมด และจะบานให้เห็นประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนดอกร่วงโรย ( 4 วันแรกช่อจะอัดแน่นสวยงาม วันที่ 5 เป็นต้นไป จะทะยอยร่วงลงพื้น เป็นพรมสีชมพู) หากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จะทำให้การพัฒนาของตาดอกไม่สม่ำเสมอกันหมายความว่าในรอบนั้น อาจจะเห็นดอกมากว่า 1 สัปดาห์ก็ได้

ในปี 2568 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้คาดการณ์การบานของชมพูพันธุ์ทิพย์ ไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 บานประปราย ระหว่างวันที่ 15 - 21 มกราคม 2568 ระยะที่ 2 บาน 80 เปอร์เซ็นต์ (หน้าโรงเรียนสาธิตฯ) ระหว่างวันที่ 13 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 ระยะที่ 3 จะแจ้งให้ทราบภายหลัง (เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อปัจจัยการบานของดอก)สำหรับผู้สนใจสามารถรับชุมความสวยงามของชมพูพันธุ์ทิพย์ได้ทางช่องทาง Facebook Fan Pag มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และขอร่วมมือนักท่องเที่ยวที่มาชมความสวยงาม ร่วมอนุรักษ์รุกขมรดกของแผ่นดิน ไม่ดึง ไม่โน้ม ไม่รั้งกิ่งชมพูพันธุ์ทิพย์